เบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิต แม้แต่ตอนหลับสมองก็ยังคิดถึงแต่ความตาย หากตัวคุณ หรือคนรอบข้างกำลังแสดงอาการ และพฤติกรรมที่ทำร้ายตนเองอยู่ละก็ พวกเขาอาจกำลังเข่าสู่ ภาวะเฉยชากับชีวิต ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคซึม แต่จะมีอาการอย่างไรเพิ่มเติมนั้น มารู้ให้เท่าทันกับบทความนี้ ที่ Hello คุณหมอ ได้นำมาฝากทุกๆ คนกัน
รู้จักกับ ภาวะเฉยชากับชีวิต (Passive Death Wish) เพื่อการรับมืออย่างเท่าทัน
ภาวะเฉยชากับชีวิต หรือการคิดฆ่าตัวตายแบบพาสซีพ คือ อาการหมกมุ่นที่จะอยากจบชีวิตตนเองแบบไม่มีการคาดการณ์ หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นการฆ่าตัวตายทางความคิดจินตนาการร่วมด้วย เช่น หากนอนหลับไปแล้ว ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาก็คงจะดี หรือโลกจะน่าอยู่กว่านี้ถ้าไม่มีเรา ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ความคิดแต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ร้ายแรงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่าประมาทภาวะน่ากลัวนี้เพราะคุณคาดเดาไม่ได้เลยว่าผู้ป่วยจะลงมือทำร้าย หรือจบชีวิตของพวกเขาตอนไหน
สาเหตุหลักๆ ของภาวะเฉยชากับชีวิต มีหลายปัจจัยด้วยกัน คือ
- การใช้สารเสพติด
- ความกดดันจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตจนทำให้สะสม
- ปัญหาตามสภาพแวดล้อมในสังคม เช่น ปัญหาทางการเงิน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือสภาพแวดล้อมตามถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นเชิงลบ
- มีความผิดปกติด้านจิตใจ (ภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้า)
- ความเครียด วิตกกังวล
เช็กอาการตนเอง และคนที่คุณรักโดยด่วน ก่อนจะสายเกินแก้
- รู้สึกสิ้นหวังกับบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา
- พูดถึงความตาย หรือคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง
- การพึ่งสารเสพติดในปริมาณที่มากขึ้น
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
- มีวิธีการคิดฆ่าตัวตายอย่างรุนแรง เช่น การใช้อาวุธปืน และของมีคม เป็นต้น
- คำพูดสื่อความหมายในเชิงบอกลาผู้คนที่พวกเขารัก
- ชอบแยกตนเองออกมาจากสังคม หรือผู้อื่น
คุณสามารถสังเกตอาการข้างต้นที่กล่าวมาได้ หรือหากมีอาการอื่นๆ ที่ใกล้เคียง หรือรุนแรงกว่านั้น ให้คุณรีบพาผู้ป่วยไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ และนักบำบัดโดยเร็วที่สุด
บำบัดอย่างถูกวิธี ด้วยเทคนิคของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ลดความเสี่ยงในผู้ป่วยที่มีความคิดอยากตาย ด้วย เทคนิคทางการแพทย์ ดังนี้
- จิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด เป็นการพูดคุยถึงอาการ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่คุณกำลังประสบปัญหาอยู่ให้นักบำบัดได้รับฟังพร้อมรักษาในขั้นตอนถัดไปได้อย่างถูกวิธี
- ยารักษาอาการซึมเศร้า ซึ่งเป็นยาที่จะช่วยคลายความกังวล เป็นยารักษาโรคทางจิตอย่างหนึ่ง ทางแพทย์อาจให้ยากล่อมประสาทร่วมด้วยในระหว่างการรักษา
- การจัดการกับความเครียด เป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ปรับปรุงเรื่องการนอนหลับ การรับประทานอาหาร รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อจัดการกับความเครียด และเบี่ยงเบนความสนใจ
หากอาการอยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงมากนัก คุณควรรับมือกับพวกเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะพัฒนาจนไปถึงการฆ่าตัวตายได้ โดยการสร้างพลังบวก หรือพาผู้ป่วยไปอยู่ในที่ผ่อนคลาย อาจใช้การนั่งสมาธิเข้าช่วยเพื่อให้จิตใจสงบขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด