backup og meta

5 โรคแฝง ที่มาพร้อมกับ สัญญาณอาการเหนื่อยล้า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/09/2020

    5 โรคแฝง ที่มาพร้อมกับ สัญญาณอาการเหนื่อยล้า

    อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเหนื่อยล้า อาจจะอาการที่เราหลายคนพบเจอกันได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมเป็นเวลานานๆ และไม่ค่อยได้มีเวลาออกกำลังกาย แต่คุณรู้รึเปล่าคะว่า อาการเหนื่อยล้า อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคแฝงอื่น ๆ ได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง บทความนี้ของ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอ 5 โรคแฝง ที่มาพร้อมกับ สัญญาณอาการเหนื่อยล้า ที่หลายคนอาจจะมองข้าม

    5 โรคแฝง ที่มาพร้อมกับ สัญญาณอาการเหนื่อยล้า

    ภาวะโลหิตจาง

    หนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะโลหิตจาง คืออาการเหนื่อยล้าเป็นประจำ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

    ธาตุเหล็ก เป็นธาตุที่สำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จนทำให้กระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง จะทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าและหายใจหอบได้

    นอกเหนือจากอาการเหนื่อยล้าแล้ว ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กก็ยังอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น อ่อนแรง ผิวซีด เจ็บหน้าอก หายใจหอบ ปวดหัว วิงเวียน หรือเบื่ออาหาร เป็นต้น

    โรคเบาหวาน

    หนึ่งในอาการหลักของโรคเบาหวาน ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 คืออาการเหนื่อยล้า โรคเบาหวานประเภทที่ 1 หมายถึงการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนที่ช่วยจัดการกับน้ำตาลในเลือดออกได้ ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หมายถึงการที่ร่างกายอาจจะผลิตอินซูลินออกมาได้ไม่เพียงพอ หรือใช้อินซูลีนได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้มีระดับของน้ำตาลในเลือดอยู่ในปริมาณที่สูงเกินไป จนกลายเป็นโรคเบาหวาน

    อาการอื่นๆ ของโรคเบาหวาน นอกจากอาการเหนื่อยล้า อาจมีดังต่อไปนี้ เช่น กระหายน้ำเพิ่มขึ้น ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้ หงุดหงิด มองเห็นไม่ชัด ติดเชื้อบ่อย หรือแผลหายช้าลง

    โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnoea)

    โรคหยุดหายใจขณะหลับเป็นความผิดปกติของการนอนหลับชนิดหนึ่ง ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดจากการที่กล้ามเนื้อในบริเวณลำคอที่คอยควบคุมการหายใจเข้าออก หย่อนลงมาปิดทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดเสียงกรนดัง และทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    อาการที่พบได้ส่วนใหญ่ของโรคหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ อาการเหนื่อยล้า กรนเสียงดัง หายใจหอบในระหว่างหลับ ตื่นมาแล้วปากแห้ง ปวดหัวหลังตื่นนอน หงุดหงิด รู้สึกง่วงนอนในตอนกลางวัน และนอนไม่หลับ เป็นต้น

    กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome ; CFS)

    กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง คือความผิดปกติที่มีอาการหลักคือ อาการเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง โดยที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหรือกิจกรรมอื่น ๆ และอาการเหนื่อยล้านี้จะไม่หายไป แม้ว่าจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

    ในปัจจุบันนี้ยังคงไม่ทราบสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง อีกทั้งยังไม่มีวิธีในการวินิจฉัยโรคอย่างเฉพาะเจาะจง แต่สามารถสังเกตได้จากอาการของโรค เช่น เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ เจ็บคอ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม หรือต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

    โรคซึมเศร้า

    โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ความคิด และการกระทำต่าง ๆ ของคุณ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และทางกายอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ โศกเศร้า หมดอาลัยตายอยาก อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย วิตกกังวล กระสับกระส่าย หรือมีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตายได้อีกด้วย

    หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคแฝงที่อาจมาพร้อมสัญญาณอาการเหนื่อยล้าเหล่านี้กันแล้ว อย่าลืมลองสำรวจตัวเองกันดูนะคะว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคเหล่านี้หรือเปล่า หรือเพื่อความแน่ใจ อย่าลืมเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละครั้ง ให้มั่นใจว่าเราปลอดภัย ห่างไกลจากโรคแฝง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา