backup og meta

รับมือกับอาการซันดาวน์ ภาวะที่เกิดในผู้ป่วยสมองเสื่อม ช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน

รับมือกับอาการซันดาวน์ ภาวะที่เกิดในผู้ป่วยสมองเสื่อม ช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน

อาการซันดาวน์ (Sundown Syndrome) เป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งมักจะเกิดในช่วงพระอาทิตย์ตกไปจนถึงช่วงค่ำ ๆ ของวัน ในช่วงนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการสับสน กระวนกระวาย ปัญหาเหล่านี้อาจสร้างความลำบากใจให้กับผู้ที่ต้องดูแล วันนี้ Hello คุณหมอ มีเคล็ดลับที่น่าสนใจ ในการช่วยดูแล รับมือกับอาการซันดาวน์ ในผู้ป่วยสมองเสื่อมมาให้อ่านกันค่ะ

อาการซันดาวน์ คืออะไร

อาการซันดาวน์ (Sundown Syndrome) เป็นพฤติกรรมที่มักจะเกิดในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ในช่วงพลบค่ำ หรือช่วงที่พระอาทิตย์ใกล้ตกดินไปจนถึงช่วงค่ำ ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่สับสน ก้าวร้าว ต่อต้าน ไม่อยู่นิ่ง ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปีนเตียง เห็นภาพหลอน หูแว่วร่วมด้วย สาเหตุของอาการนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนสถานที่ สิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น เปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนเวลาในการทำกิจกรรมที่เคยทำทุกวัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลกับกับอาการที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ความเหนื่อยล้าของวันและแสงที่ลดลงอาจเป็นอีกหนึ่งตัวการที่ทำให้อาการซันดาวน์กำเริบ

เคล็ดลับการ รับมือกับอาการซันดาวน์ ในผู้ป่วยสมองเสื่อม

อาการซันดาวน์ ที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยสมองเสื่อมในช่วงพลบค่ำนั้นมักจะสร้างความกังวล สับสนให้กับผู้ป่วย และอาจสร้างความเหนื่อยล้าให้กับผู้ดูแลได้เช่นกัน เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการซันดาวน์ในผู้ป่วยสมองเสื่อมให้ดีขึ้นได้

ปฏิบัติตามตารางเวลา

ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักจะมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เมื่อกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันเปลี่ยนไป ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกคุ้นชิน บางครั้งอาจทำให้เกิดความเครียด สับสน และอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ดังนั้นการมีตารางเวลาในการทำกิจกรรม และทำตามตารางเดิมในทุก ๆ วัน จะช่วยลดความเครียดและความสับสนให้พวกเขาได้ หากจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนตารางเวลา ควรค่อย ๆ ปรับและเปลี่ยนไปทีละน้อยเท่าที่จะทำได้

ปรับแสงในบ้าน

บางครั้งอาการซันดาวน์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแสง การปรับแสงในห้องที่อยู่อาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงใน Psychiatric Investigation แสดงให้เห็นว่าการบำบัดด้วยแสงมีส่วนช่วยลดความสับสนในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้

ออกกำลังกาย

ผู้ป่วยหลาย ๆ คนที่มีอาการซันดาวน์ มักจะมีปัญหาในการนอนหลับตอนกลางคืน ในทางกลับกันการพักผ่อนไม่เพียงพออาจสร้างความเหนื่อยล้าให้พวกเขา จนมีอาการซันดาวน์ได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาก็จะวนลูปอยู่เช่นนี้

การวางแผนทำกิจกรรมตอนกลางวันอาจช่วยจัดการปัญหานี้ได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการนอนหลับช่วงกลางวัน วางแผนออกกำลังกาย และทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวัน เช่น เดินในสวนสาธารณะ อ่านหนังสือ อาจช่วยให้พวกเขานอนหลับในช่วงกลางคืนได้ดีขึ้น และยังช่วยลดอาการซันดาวน์ได้อีกด้วย แต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน

ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร

การปรับเปลี่ยนการรับประทานให้มีความเหมาะสม เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดอาการซันดาวน์ในผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนัก ๆ ในตอนเย็น เพื่อช่วยให้เขารู้สึกสบายท้องและช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ซึ่งอาจส่งผลในการนอนหลับได้

ลดความเครียด

อารมณ์ที่ขุ่นมัวและความเครียด มักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนและหงุดหงิดได้ การช่วยให้เขาใจเย็นและไม่เครียดเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยหลีกเลี่ยงอาการซันดาวน์ได้ เช่น การเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและเงียบ หรือใช้สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวเป็นตัวช่วย การได้กอดหรือลูกสัตว์อาจช่วยให้เขาใจเย็นลงได้

ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย

การสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่ให้มีความปลอดภัยและน่าอยู่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและสงบลงได้ โดยสถานที่ที่อยู่ควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม จัดไฟให้เหมาะสม หากผู้ป่วยต้องย้ายไปอยู่โรงพยาบาลควรจัดห้องให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน โดยจัดวางรูปครอบครัวไว้ในห้อง นำผ้าห่มผืนโปรดไปใช้ที่โรงพยาบาลด้วย วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงและลดอาการซันดาวน์ลงได้

สังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย

ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีตัวกระตุ้นที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการสังเกตผู้ป่วยเมื่ออาการซันดาวน์กำเริบ อาจช่วยให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ ก็จะง่ายต่อการแก้ปัญหาต่อไป

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Source

ผู้สูงอายุ : ปรากฏการณ์ตะวันตกดิน

https://med.mahidol.ac.th/nursing/jns/DocumentLink/2539/issue_02/10.pdf

7 Tips for Reducing Sundowning

https://www.healthline.com/health/dementia-sundowning

Sleep Issues and Sundowning

https://www.alz.org/help-support/caregiving/stages-behaviors/sleep-issues-sundowning

Tips for Coping with Sundowning

https://www.nia.nih.gov/health/tips-coping-sundowning

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/01/2021

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงสมองผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม เพิ่มความจำ

พัฒนาสมอง เพิ่มพูนความจำ ป้องกันสมองเสื่อม ได้ง่ายๆ ด้วยการ บริหารสมอง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 19/01/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา