หลายคนคงเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า ไม่ควร กินทุเรียนกับเบียร์ เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น เนื่องจากทั้งทุเรียนและเบียร์ต่างก็เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้ อีกทั้งทุเรียนยังอาจไปยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สลายแอลกอฮอล์ ส่งผลให้มีแอลกอฮอล์สะสมในระดับที่ร่างกายรับไม่ไหว ยิ่งกินทุเรียนกับเบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ในปริมาณมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงขึ้นเท่านั้น จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
กินทุเรียนกับเบียร์ อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
การ กินทุเรียนกับเบียร์ ไม่ว่าจะกินพร้อมกันหรือกินในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทุเรียนมีสารประกอบซัลเฟอร์ (Sulfur) หรือกำมะถัน ในปริมาณมาก และกำมะถันจะไปขัดขวางกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถทำลายแอลกอฮอล์ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้มีสารอะเซตาดีไฮด์ (Acetaldehyde) ตกค้างอยู่ในร่างกาย
ตามปกติแล้วสารอะเซตาดีไฮด์เป็นสารตัวกลางที่ถูกเปลี่ยนมาจากแอลกอฮอล์ และจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับออกจากร่างกาย แต่เมื่อกระบวนการทำลายแอลกอฮอล์หยุดชะงักจะส่งผลให้มีสารอะเซตาดีไฮด์ตกค้างอยู่ สารนี้มีพิษและจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว สำหรับผู้ที่มีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการ กินทุเรียนกับเบียร์ อาจทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือถึงแก่ชีวิตได้
นอกจากนี้ ทุเรียนกับเบียร์ ยังเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงทั้งคู่ ทุเรียนเป็นผลไม้ธาตุร้อนที่มีแก๊ส ไขมันและน้ำตาลเยอะ ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานอย่างรวดเร็วและทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น เมื่อมีน้ำตาลในเลือดเยอะ ร่างกายจะดึงน้ำจากเซลล์เพื่อมาลดระดับน้ำตาล ทำให้สูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้น เมื่อรวมกับแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ หากรับน้ำมาทดแทนไม่ทัน อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ การกินทุเรียนกับเบียร์ยังทำให้ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากกินเยอะ ๆ ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายท้อง เป็นแผลร้อนใน อีกทั้งภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังเป็นอันตรายต่อการควบคุมโรคในผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อีกด้วย
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากไม่ควรกินทุเรียนกับเบียร์แล้ว ยังไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับอาหารต่อไปนี้ด้วย
- อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อกโกแลต โกโก้ กาแฟ ชาเขียว เพราะอาจทำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกรดในกระเพาะ หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน มีอาการจุกเสียดหรือท้องอืดได้ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงทำให้ร่างกายขับปัสสาวะมากขึ้น เมื่อกินร่วมกับแอลกอฮอล์ที่มีคุณสมบัติเดียวกัน อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
- อาหารรสเค็ม เช่น มันฝรั่งทอด อาหารหมักดอง เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง ทำให้ร่างกายกระหายน้ำมากขึ้น และอาจทำให้บริโภคแอลกอฮอล์เยอะขึ้น
- ผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น ส้ม มะนาว เลมอน ส้มโอ เกรปฟรุต เนื่องจากมีความเป็นกรด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ในผู้ที่เป็นโรคนี้หรือมีความเสี่ยงโรคนี้
ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม
แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มที่ควรบริโภคแต่พอดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังจากการบริโภคแอลกอฮอล์เกินขนาด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) หรือหากเลิกบริโภคได้อย่างเด็ดขาด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้หลายประการ
ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี โดยทั่วไป ผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้ว/วัน ส่วนผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว/วัน โดยปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้ว อาจเป็นดังนี้
- เบียร์ 1 แก้ว ปริมาณ 355 มิลลิลิตร
- ไวน์ 1 แก้ว ปริมาณ 148 มิลลิลิตร
- สุรากลั่น 1 แก้ว 44 มิลลิลิตร