backup og meta

เส้นเลือดหัวใจตีบ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/02/2023

    เส้นเลือดหัวใจตีบ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องกัน

    เส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดหัวใจเสื่อมสภาพเนื่องจากมีไขมันหรือคราบพลัคเกาะผนังหลอดเลือด จนทำให้เส้นเลือดตีบตันและเลือดไม่สามารถเดินทางไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ส่งผลให้เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวาย และอาจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ปวดคอและขากรรไกร ปวดแขนและไหล่ คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอย่างเหมาะสมอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยทั่วไปแล้ว เส้นเลือดหัวใจตีบสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพ

    เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร

    เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease หรือ CHD) เป็นโรคหลอดเลือดแดงชนิดหนึ่ง มีสาเหตุหลักมาจากภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ที่เกิดจากไขมันและคราบหินปูนเกาะตัวสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงแคบลงและแข็งตัว จนเลือดไม่สามารถลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรืออาจทำให้หลอดเลือดปริแตกออกจนมีเกล็ดเลือดไปอุดตันในทางเดินเลือดหลอดเลือดหัวใจ

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ อาจมีดังนี้

    • อายุ ผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไปและผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
    • ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ อาจเสี่ยงเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหากญาติใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย และความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นหากมีพ่อหรือพี่ชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปีหรือแม่หรือพี่สาวเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี
    • การสูบบุหรี่และรับควันบุหรี่มือสอง บุหรี่มีสารพิษ เช่น นิโคติน ที่ทำให้หลอดเลือดตีบตันและแคบลงและทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เสี่ยงเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบในภายหลัง
    • ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง จนหลอดเลือดแดงแคบและตีบจนเลือดไหลเวียนได้ช้าลง ส่งผลให้หัวใจขาดเลือด
    • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง หากมีระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ในเลือดมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งจนทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้
    • โรคเบาหวาน เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงคล้ายกับโรคหัวใจ เช่น น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน โรคอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง หากเป็นโรคเบาหวานก็อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน
    • โรคไตเรื้อรัง หากเป็นโรคไตมานาน หัวใจจะต้องทำงานหนักและสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงไตได้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งเสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้
    • ไม่ค่อยออกกำลังกาย ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย อาจเสี่ยงเกิดภาวะสุขภาพหลายประการ เช่น โรคอ้วน ภาวะความดันโลหิต ภาวะคอเรสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจได้
    • มีภาวะเครียด ความเครียดทางอารมณ์ในระยะยาว อาจทำให้คราบจุลินทรีย์เพิ่มจำนวนและสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเสียหาย ทั้งยังกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือดที่เสี่ยงอุดตันหลอดเลือด จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือภาวะหัวใจวาย
    • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ หรือโซเดียม เช่น อาหารฟาสต์ฟูด เบเกอรี เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารรสเค็มจัด อาหารหมักดอง เป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้
    • การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์บ่อย โดยเฉพาะหากดื่มหนัก อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายได้ ทั้งยังทำให้ภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจแย่ลง
    • การนอนหลับ การใช้เวลานอนหลับพักผ่อนอย่างไม่สมดุล เช่น นอนน้อยมากเกินไป นอนมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบได้

    อาการเส้นเลือดหัวใจตีบ

    อาการเส้นเลือดหัวใจตีบ อาจมีดังนี้

    • อาการเจ็บแน่นหน้าอก (Angina) ที่บางคนอาจสับสนกับอาการเสียดท้องหรืออาหารไม่ย่อย
    • รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวบริเวณร่างกายท่อนบน เช่น คอ ขากรรไกร แขน ไหล่ ท้องส่วนบน
    • หายใจถี่รัว โดยอาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ หรือมีเหงื่อเย็น
    • อ่อนเพลีย

    อาการของผู้ที่เส้นเลือดหัวใจตีบอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจไม่แสดงอาการของโรคจนกระทั่งมีภาวะหัวใจวายที่ทำให้เจ็บหน้าอกเพราะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ในบางรายอาจมีอาการหัวใจหยุดทำงานกะทันหันโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าหรือที่เรียกว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)

    เส้นเลือดหัวใจตีบ รักษายังไง

    การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบในผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีแผนการรักษาต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปอาจมีดังนี้

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ เช่น

    • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง โยเกิร์ตไขมันต่ำ เน้นอาหารที่ไม่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และควรลดอาหารที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวอย่างน้ำอัดลม น้ำหวาน แป้งขัดขาว ข้าวขาว ขนมปังขาว นอกจากนี้ยังควรลดอาหารโซเดียมสูงที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ผงชูรส
    • ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง (Active Lifestyle) เช่น ไม่นั่งหรือนอนอยู่ที่เดิมเป็นเวลาหลายชั่วโมง เดินขึ้นลิฟต์ไม่กี่ชั้นแทนบันได เดินอย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยอาจปรึกษาคุณหมอว่ากิจกรรมไหนที่เหมาะกับภาวะสุขภาพของตัวเอง
    • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารแต่ละมื้อให้พออิ่ม ไม่ดื่มน้ำหวานระหว่างวัน
    • เลิกสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • เรียนรู้วิธีจัดการความเครียดของตัวเองอย่างเหมาะสม

    การรักษาด้วยการใช้ยา

    หากแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตยังไม่เพียงพอ คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปด้วย โดยอาจสั่งยาที่ช่วยให้หัวใจทำงานได้ตามปกติ เช่น ต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) แอสไพริน (Aspirin) เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) หรือยาลดควบคุมความโลหิต เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker) ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ยากลุ่มสแตติน (Statin) ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม PCSK9 inhibitor

    การทำบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty)

    การทำบอลลูนหัวใจเป็นวิธีขยายหลอดเลือดในผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบโดยไม่ต้องเปิดทรวงอก คุณหมออาจสอดสายสวนที่เป็นท่อบาง ๆ ยืดหยุ่นได้ มีอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดหรือบอลลูนติดอยู่ที่ปลายสาย เข้าไปในหลอดเลือดและดันไขมันในหลอดเลือดให้แบนราบจนติดกับผนังหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และอาจใส่ขดลวดเพื่อให้หลอดเลือดเปิดและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการทำบอลลูนมักไม่ทำให้เกิดแผลใหญ่ ตามปกติจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1 วัน และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในถัดไป

    การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting หรือ CABG)

    เป็นการนำหลอดเลือดส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หลอดเลือดแดงหลังกระดูกหน้าอก มาทำทางเบี่ยงเพื่อเลี่ยงหลอดเลือดบริเวณที่อุดตัน ซึ่งจะทำให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น การผ่าตัดลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่อาจต้องพักฟื้นอย่างน้อย 5 วัน

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเส้นเลือดหัวใจตีบ

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเส้นเลือดหัวใจตีบ อาจทำได้ดังนี้

    • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสองที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
    • ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล หรือโรคเบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของตัวเอง
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เน้นอาหารไขมันต่ำและโซเดียมต่ำ ผัก ผลไม้ ธัญพีชไม่ขัดสี
    • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตรเพื่อให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอ
    • วางแผนจัดการกับความเครียด เช่น ไปเที่ยวพักผ่อน อ่านหนังสือ ปรึกษาคนรอบข้าง ฟังเพลงที่ชอบ เดินออกกำลังกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา