ผักคะน้า จัดเป็นผักใบเขียวที่อยู่ในตระกูลกะหล่ำ นิยมปลูกในประเทศไทย จีน ฮ่องกง และมาเลเซีย ผักคะน้ามีสารอาหารมากมาย เช่น แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินเค ที่อาจช่วยบำรุงกระดูก เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคมะเร็ง
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้า
ผักคะน้า 1 ถ้วย อาจให้พลังงาน 63 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 10.73 กรัม ที่ประกอบด้วยไฟเบอร์ 7.6 กรัม น้ำตาลน้อยกว่า 1 กรัม และสารอาหารอื่น ๆ ดังนี้
- แคลเซียม 268 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 222 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 61 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 40 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 34.6 มิลลิกรัม
- โซเดียม 28 มิลลิกรัม
- เหล็ก 2.15 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 1.67 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 772.5 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 722 ไมโครกรัม
- โฟเลต 30 ไมโครกรัม
ประโยชน์ของผักคะน้าที่มีต่อสุขภาพ
-
อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผักคะน้าเป็นผักตระกูลกะหล่ำที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ที่มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และยังมีสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) ซึ่งเป็นสารพฤษเคมีที่อาจช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพจากอนุมูลอิสระ และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากการศึกษาในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคผักตระกูลกะหล่ำกับการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นผู้ใหญ่ชาวจีน 134,796 คน ที่ถูกประเมินจากการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร พบว่ากลุ่มผู้หญิงและผู้ชายชาวจีนที่นิยมรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะผักตระกูลกะหล่ำ อาจมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภคผักและผลไม้ อีกทั้งยังอาจมีสุขภาพหัวใจที่ดีกว่า และมีอายุยืนยาวกว่าอีกด้วย
-
อาจช่วยป้องกันโรคต้อหิน
ผักคะน้ามีวิตามินเอ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) พบได้มากในผักใบเขียว มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันเซลล์จอประสาทตาเสื่อมสภาพเนื่องจากอนุมูลอิสระ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางสายตา เช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก
จากการศึกษาในวารสาร The American Journal of Ophthalmology ปี พ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของการบริโภคผลไม้และผักกับการลดลงของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินในสตรีชาวแอฟริกันอเมริกัน โดยสอบถามเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของผู้หญิง 584 คน พบว่า ผู้ที่รับประทานผักคะน้า และผักชนิดอื่น ๆ รวมถึงผลไม้ ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ อาจมีความเสี่ยงการเกิดโรคต้อหินน้อยกว่ากลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการบริโภคสารอาหารเฉพาะเจาะจงบางชนิดสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต้อหินได้หรือไม่
-
อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
ผักคะน้ามีสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) ที่เป็นสารอาหารพบได้ในผักและผลไม้ มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพจากอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง
จากการศึกษาหนึ่งในวารสาร Molecular Nutrition & Food Research ปี พ.ศ. 2561 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผักตระกูลกะหล่ำและสารไอโซไทธโอไซยาเนต (Isothiocyanate) ซึ่งเป็นสารประกอบที่อยู่ในพืชตระกูลกะหล่ำในการป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบว่า ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาด กวางตุ้ง มีสารพฤกษเคมี เช่น กลูโคซิโนเลต ที่อาจมีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง ช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง และอาจช่วยหยุดวงจรการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
ข้อควรระวังการบริโภคผักคะน้า
การรับประทานผักคะน้าอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่อาจมีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) เนื่องจากผักคะน้ามีวิตามินเคที่อาจลดประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ลง ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนบริโภค
นอกจากนี้ ผักคะน้ายังเป็นแหล่งของไฟเบอร์ ที่ร่างกายอาจต้องใช้เวลานานในการย่อย หากรับประทานผักคะน้ามากเกินไปและรับประทานรวดเร็วเกินไปก็อาจส่งผลให้มีก๊าซในลำไส้และท้องอืดได้