ยังคงเป็นประเด็นให้เห็นกันอยู่ทุกวันถึงข่าวไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก และกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้พวกเราทุกคนจำเป็นต้องป้องกันสุขภาพร่างกายตนเองเบื้องต้นอย่างเคร่งครัด เช่น การอยู่ให้ไกลจากผู้ที่มีอาการเป็นหวัด มีน้ำมูก จาม ไอ การใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และหมั่นล้างมือด้วยสบู่อย่างสม่ำเสมอ แต่คนเราจะคอยวิ่งเข้าวิ่งออกห้องน้ำทุกนาทีก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีตัวช่วยเสริมอย่างเจลล้างมือขนาดพกพา ซึ่งกำลังเป็นที่ขาดแคลนตามท้องตลาดในปัจจุบัน คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. (Food and Drug Administration) จึงออกมาเผย วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง เพื่อให้ประชาชนได้มีเครื่องมือป้องกันเชื้อโรค รวมถึงไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เผย 4 สูตร วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง โดยองค์การอาหารและยา
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม แนะนำวิธีทำเจลล้างมือใช้เอง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ในหลายภาคส่วนกังวลถึงเรื่องการปรับสถานะของเจลล้างมือจากเครื่องสำอางเป็นเครื่องมือแพทย์ อาจส่งผลกระทบทำให้ยิ่งขาดแคลนเจลล้างมือมากขึ้น
ทางอย. จึงได้มีการรับนโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยป้องกันประชาชนจากไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งมีความต้องการอยากให้ประชาชนมีเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้อย่างเพียงพอ และสามารถทำได้ด้วยตนเอง จึงมีการเชิญผู้ประกอบการผลิตเจลล้างมือเข้าร่วมชี้แจงว่า ยังคงให้แอลกอฮอล์มีสถานะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังเดิม แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เงื่อนไข โดยต้องมีปริมาณแอกอฮอล์ 70% ขึ้นไป จึงจะมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำชับให้เร่งการผลิตเจลล้างมืออย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรรีรอเช่นเดียวกัน ทางอย. จึงมีข้อมูลมาแนะนำถึงการทำเจลล้างมือได้ด้วยตัวเอง ทั้ง 4 สูตร ดังนี้
สูตรที่ 1 ดัดแปลงมาจากองค์กรอนามัยโลก
- นำเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 833.3 มิลลิลิตร
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ (Hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร
- กลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร
ผสมส่วนประกอบทั้ง 3 ชนิดข้างต้นให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร จากนั้นเติมน้ำกลั่น หรือน้ำต้มสุกที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเซ็ตตัวแล้ว จนถึงปริมาตรของภาชนะ 1,000 มิลลิลิตร และคนเบาๆ ให้เข้ากันอีกรอบ
สูตรที่ 2 จากองค์การอนามัยโลก
- นำไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol 75% v/v) 751.5 มิลลิลิตร
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร
- กลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร
ผสมส่วนประกอบทั้ง 3 ชนิดข้างต้นให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร จากนั้นเติมน้ำกลั่น หรือน้ำต้มสุกที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นแล้ว จนถึงปริมาตรของภาชนะ 1,000 มิลลิลิตร และคนเบาๆ ให้เข้ากัน
สูตรที่ 3 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- เท คาโบพอล 940 (Carbopol 940) จำนวน 5 กรัม ลงในน้ำร้อนที่มีปริมาณ 142.75 มิลลิลิตร อย่างเบาๆ คนให้สารละลายจนหมด
- แล้วเติม เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 350 มิลลิตร คนไปเรื่อยๆ อีกรอบให้เข้ากัน
- จากนั้นเติมไตรเอทาโนลามีน (Triethanolamine) 1.75 มิลลิลิตร เพื่อปรับความเป็นกรดด่าง
- เติมกลีเซอรีน (Glycerin) 3 มิลลิลิตร เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ผลลัพธ์ที่ได้ในขั้นตอนนี้คือ คุณจะได้แอลกอฮอล์เจลในประมาณถึง 500 มิลลิลิตร เลยทีเดียว
สูตรที่ 4 จากคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- นำเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 75 มิลลิลิตร
- ผสมกับกลีเซอรีน (Glycerin) 5 มิลลิลิตร และน้ำสะอาด 20 มิลลิลิตร
พร้อมทั้งคนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างสม่ำเสมอ จึงจะนำมาใช้เป็นเจลใช้กำจัดเชื้อโรคได้
ข้อควรระวัง: การเลือกส่วนผสมและบรรจุภัณฑ์ที่คุณจะนำมาใช้ทำเจลล้างมือด้วยตัวเอง ควรเป็นส่วนผสมและบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการผลิตอย่างมีมาตรฐาน ถูกสุขลักษณะอนามัย และสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในการทำเจลล้างมือ คือ การปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงสูตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งอัตราส่วนของส่วนผสมที่คงที่ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพื่อให้ได้เป็นเจลล้างมือที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและปลอดภัยต่อการใช้งาน
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมืออย่างไร ให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน
- เช็กฉลากข้างผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ ควรมีฉลากภาษาไทย ที่ระบุชื่อของส่วนผสม วิธีใช้ และชื้อผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า พร้อมวันเดือนปีในวันที่เริ่มผลิต ติดอยู่
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิท ป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ระเหยออก เจลล้างมือที่ดีควรมีความหนืดเหนียวในระดับที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ถึงกับเหนอะหนะจนเกินไป สามารถคงอยู่ในอุ้งมือเมื่อเทใส่ ไม่เกิดการแยกชั้น
- ระวังผลิตภัณฑ์หมดอายุ สังเกตได้จากการใช้ฝ่ามือสัมผัสไม่รู้สึกถึงความเย็นการระเหยของแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งมีสีเปลี่ยนแปลงไป ตกตะกอน จับตัวเป็นก้อน
วิธีการใช้เจลล้างมือ และข้อควรระวัง
- ทดสอบอาการว่าคุณแพ้เจลล้างมือหรือไม่ โดยการทดลองทาเจลล้างมือในปริมาณเล็กน้อย บีบลงบริเวณใต้ท้องแขน ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หากมีผื่นแดงขึ้น ปวดแสบปวดร้อน บวม ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ทันที
- หยดเจลล้างมือ ถูให้ทั่วประมาณ 20 วินาที และปล่อยแห้งตามอากาศ
- เก็บเจลล้างมือในภาชนะที่ปิดสนิท หลีกเลี่ยงการตั้งวางที่ที่แสงแดดส่องถึง เพราะอาจทำให้แอลกอฮอล์เกิดการระเหย เจือจางจนประสิทธิภาพลดลง
เนื่องจากเจลล้างมือ มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เป็นหลัก อาจทำให้เกิดการติดไฟได้ง่าย โดยเฉพาะอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ ควรระวังเป็นพิเศษ นอกจากนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับเด็กทารก หรือบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา ผิวอักเสบ ผิวหนังที่มีบาดแผล และสิว
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด