backup og meta

การปฏิสนธิเกิดขึ้นบริเวณใด

การปฏิสนธิเกิดขึ้นบริเวณใด

การปฏิสนธิเกิดขึ้นบริเวณใด อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย อย่างไรก็ตาม ตามปกติการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ โดยรังไข่จะปล่อยไข่ออกมายังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับตัวอสุจิ เมื่อการปฏิสนธิสำเร็จก็จะเคลื่อนตัวไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป

[embed-health-tool-ovulation]

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงมีหน้าที่อย่างไร

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยอวัยวะที่อยู่ภายนอกและภายใน ซึ่งแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • แคมใหญ่หรือแคมนอก เป็นผิวภายนอกที่ปกป้องอวัยวะสืบพันธุ์ บริเวณนี้จะมีขนขึ้นที่ผิวหนังซึ่งมีต่อมเหงื่อและหลั่งน้ำมันเพื่อให้ความชุ่มชื้น
  • แคมเล็กหรือแคมใน เป็นส่วนที่อยู่ภายในแคมใหญ่ ล้อมรอบถึงช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ผิวบริเวณนี้บอบบางมาก อาจระคายเคืองและบวมง่าย
  • ต่อมบาร์โทลิน (Bartholin Gland) อยู่ติดกับช่องคลอด มีหน้าที่ผลิตของเหลวให้ความชุ่มชื้นภายใน
  • คลิตอริส (Clitoris) เป็นส่วนยื่นเล็ก ๆ อยู่ระหว่างแคมเล็ก 2 ฝั่ง เป็นจุดศูนย์รวมของเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึก
  • ช่องคลอด เป็นทางเชื่อมปากมดลูกออกสู่ภายนอกร่างกาย
  • มดลูก ประกอบไปด้วยปากมดลูก สามารถเปิดปิดเพื่อรับตัวอสุจิและปล่อยเลือดออกมาเป็นประจำเดือน และมดลูกสามารถขยายตัวออกเพื่อรองรับทารกในขณะตั้งครรภ์
  • รังไข่ มีขนาดเล็กเป็นต่อมรูปวงรีอยู่ด้านข้างปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ผลิตไข่และฮอร์โมน
  • ท่อนำไข่ เป็นท่อที่ยึดติดกับส่วนบนของมดลูกและมีหน้าที่เป็นทางให้ไข่เคลื่อนที่ การปฏิสนธิของไข่กับอสุจิจะเกิดขึ้นบริเวณนี้และเคลื่อนตัวจากรังไข่ไปยังมดลูก จากนั้นไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก

การปฏิสนธิเกิดขึ้นบริเวณใด

ตามปกติการปฏิสนธิเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างรังไข่และมดลูก โดยไข่จะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเรียกว่า การตกไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับตัวอสุจิบริเวณท่อนำไข่ เมื่อได้รับการปฏิสนธิเรียบร้อยแล้ว ไข่จะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป

ในบางกรณีรังไข่อาจปล่อยไข่ออกมา 2 ฟองพร้อมกันและเป็นไปได้ว่าไข่ทั้ง 2 ฟองจะได้รับการปฏิสนธิที่ท่อนำไข่กับตัวอสุจิพร้อมกัน 2 ตัว ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้มีไข่ที่ปฏิสนธิสำเร็จ 2 ฟองและกลายเป็นการตั้งครรภ์ลูกแฝด อย่างไรก็ตาม การปฏิสนธิอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่มีตัวอสุจิเข้ามาผสมภายใน 12-24 ชั่วโมง อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้สำเร็จ ไข่ก็จะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่และสลายไปออกมาเป็นประจำเดือน

ความผิดปกติในระบบสืบพันธ์ุ

ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดขึ้นเมื่อไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันบริเวณท่อนำไข่และฝังตัวบริเวณท่อนำไข่ เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปอาจส่งผลให้ท่อนำไข่แตก เนื่องจากท่อนำไข่เป็นบริเวณที่ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้ ซึ่งอาจทำให้เลือดออกภายในและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยด่วน สำหรับผู้ที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีก ดังนั้นควรสังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหลังส่วนล่าง ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ตะคริวที่เชิงกราน อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับคำแนะนำการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในอนาคตด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pregnancy and Conception. https://www.webmd.com/baby/understanding-conception. Accessed February 28, 2023.

How Pregnancy (Conception) Occurs. https://www.uofmhealth.org/health-library/tw9234#:~:text=Fertilization%20usually%20takes%20place%20in,uterus%2C%20an%20embryo%20starts%20growing. Accessed February 28, 2023.

Fertilization and implantation. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/multimedia/fertilization-and-implantation/img-20008656. Accessed February 28, 2023.

Ectopic Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/ectopic-pregnancy?utm_source=redirect&utm_medium=web&utm_campaign=otn. Accessed February 28, 2023.

Conception: How It Works. https://www.ucsfhealth.org/education/conception-how-it-works. Accessed February 28, 2023.

Fertilization. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK26843/. Accessed February 28, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด หมายความอย่างไร

ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา