การยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการทางสุขภาพทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากมีภาวะสุขภาพที่ไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างดี และปฏิบัติตาม ข้อห้ามหลังยุติการตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด งดสวนล้างช่องคลอด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายเยอะหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป เพื่อให้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและกลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
[embed-health-tool-bmi]
ประเภทของการยุติการตั้งครรภ์
การยุติการตั้งครรภ์อาจแบ่งประเภทได้ ดังนี้
-
การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Medical technique)
เป็นการชักนำการแท้งด้วยการใช้ยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone หรือ RU486) ชนิดรับประทานควบคู่กับยาไมโสพรอสตอล (Misoprostol) ชนิดสอดทางช่องคลอด ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการตั้งครรภ์และกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกตัวออกมาทางช่องคลอด มักใช้ยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์
-
การใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ (Surgical technique)
คุณหมอจะใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Electric Vacuum Aspiration หรือ EVA) ดูดเนื้อเยื่อทารกและรกออกจากโพรงมดลูก หรืออาจใช้วิธีขูดมดลูก (Dilatation and Evacuation หรือ D&E) โดยการขยายปากมดลูกและคีบชิ้นส่วนของทารกในครรภ์และรกออกจากโพรงมดลูก มักใช้ยุติการตั้งครรภ์ตอนอายุครรภ์ 6-24 สัปดาห์
อาการหลังยุติการตั้งครรภ์
อาการที่พบได้หลังยุติการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้
- เลือดออกทางช่องคลอด เลือดอาจไหลออกจากช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย เป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีลิ่มเลือดปน บางคนอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ บางคนอาจมีเลือดออกในปริมาณใกล้เคียงกับเลือดประจำเดือนร่วมกับมีอาการปวดท้องหลังยุติการตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 วัน แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเลย
- ตกขาว (Discharge) อาจมีตกขาวเป็นเมือกลื่น ไม่มีเลือดปน แต่มีสีตั้งแต่สีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ
- คลื่นไส้ อาเจียน อาจเกิดขึ้นเนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง แต่มักหายไปเองภายใน 1-2 วัน
- หน้าอกคัดตึง อาจมีอาการหน้าอักคัดตึงนานถึง 10 วันหลังยุติการตั้งครรภ์ หรือมีของเหลวไหลออกจากเต้านมซึ่งอาจหายไปเองภายใน 3-4 วัน
- อาการปวดหรือเป็นตะคริว อาจรู้สึกถึงอาการปวดท้องคล้ายกับการปวดประจำเดือนเป็นครั้งคราว ในช่วง 2-3 วันแรกหลังยุติการตั้งครรภ์ หรืออาจปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น เลือดหรือลิ่มเลือดออกจากช่องคลอด ในช่วง 3-5 วันหลังยุติการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ ท้องเสีย อ่อนเพลีย ที่บรรเทาได้ด้วยพักผ่อนให้มาก ๆ และรับประทานยาแก้ปวดตามอาการ
ข้อห้ามหลังยุติการตั้งครรภ์
ข้อห้ามหลังยุติการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม เช่น กระโดดเชือก เล่นเทนนิส ปั่นจักรยานเร็ว จ็อกกิ้ง ในสัปดาห์แรกหลังยุติการตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ เช่น เดินไกล ขึ้นบันไดหลายชั้น ยกของหนัก เพราะอาจทำให้เป็นตะคริวหรือทำให้เลือดออกมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหัวนมขณะมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเองเพื่อลดการหลั่งของตกขาวออกมามากเกินไปจนทำให้ช่องคลอดระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อชั้นในหรือเสื้อที่รัดบริเวณหน้าอกแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้หน้าอกยิ่งคัดตึง
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด และการสอดใส่วัตถุต่าง ๆ เข้าไปในช่องคลอด
หลังยุติการตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร
วิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมหลังยุติการตั้งครรภ์ อาจทำได้ดังนี้
- ใส่ผ้าอนามัยรองรับเลือดที่อาจไหลออกมาหลังยุติการตั้งครรภ์ และเปลี่ยนผ้าอนามัยแผ่นใหม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- รับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ครั้งละ 400-800 มิลลิกรัม ทุกๆ 6-8 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้องหรือเป็นตะคริว
- บีบนวดบริเวณมดลูกประมาณ 10 นาทีเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- สวมชุดชั้นในที่ประคองทรวงอกได้ดี ไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป
- ประคบร้อนบริเวณหน้าท้องเพื่อบรรเทาอาการปวด
- พักผ่อนอยู่เฉย ๆ เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยลง
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น น้ำอุ่น ช็อกโกแลตร้อน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน มีธาตุเหล็ก เช่น ผักใบเขียว เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล และมีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน พืชตระกูลถั่ว ไข่ไก่ โยเกิร์ตไขมันต่ำ เพื่อทดแทนเลือดและเนื้อเยื่อที่ร่างกายสูญเสียไป
- หลังการยุติการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ โดยทั่วไปอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่ทางที่ดี แนะนำให้มีกลุ่มสนับสนุนทางอารมณ์ (Support system) เช่น ครอบครัว คนรัก เพื่อน จิตแพทย์ เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการต่อไปนี้หลังยุติการตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก เช่น เลือดออกเต็มแผ่นผ้าอนามัย 2 แผ่น ใน 1 ชั่วโมง ติดกัน 2 ชั่วโมง
- มีก้อนเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกเลมอนออกมาจากช่องคลอด
- ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 2 เดือน
- ปวดท้องหรือเป็นตะคริวรุนแรง แม้ว่าจะดูแลตัวเองเบื้องต้นและรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ยังไม่สามารถบรรเทาอาการได้
- มีไข้สูง หนาวสั่น นานกว่า 24 ชั่วโมง
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นานกว่า 24 ชั่วโมง
- เป็นลม หมดสติ
- มีตกขาวที่ส่งกลิ่นเหม็นหรือมีหนองปน ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ
- มีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล และอาการไม่ดีขึ้น
- ยุติการตั้งครรภ์ไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่ยังมีอาการของการตั้งครรภ์ เช่น อ่อนเพลีย แพ้ท้อง คัดตึงเต้านม