backup og meta

เพศสัมพันธ์กับภาวะหัวใจวาย : หลังหัวใจวายต้องรอนานแค่ไหนถึงมีเซ็กส์ได้อีกครั้ง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/04/2021

    เพศสัมพันธ์กับภาวะหัวใจวาย : หลังหัวใจวายต้องรอนานแค่ไหนถึงมีเซ็กส์ได้อีกครั้ง

    หลังจากเกิดภาวะหัวใจวาย การมีเพศสัมพันธ์อาจกลายเป็นเรื่องท้าทาย ผู้ที่รอดตายจากหัวใจวายบางราย ก็อาจยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถมีเซ็กส์ได้อีกหรือไม่ หรือเซ็กส์จะส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า และความสงสัยเหล่านี้ อาจกลายเป็นความกังวลที่ทำให้บางคนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปเลย แต่อย่างไรก็ดี ความใกล้ชิดทางกายก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคู่ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศได้ตลอดไป Hello คุณหมอ จึงอยากบอกคุณว่า ไม่ต้องเป็นกังวลไป ลองอ่านบทความเรื่อง เพศสัมพันธ์กับภาวะหัวใจวาย นี้ดูก่อน แล้วคุณจะรู้ว่า ถึงจะเคยเกิดภาวะหัวใจวาย ก็ใช่ว่าคุณจะต้องงดมีเซ็กส์ไปตลอดชีวิต

    เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ เพศสัมพันธ์กับภาวะหัวใจวาย

    หลังหัวใจวาย เมื่อไหร่จะมีเซ็กส์ได้อีกครั้ง

    คำตอบในเรื่องนี้นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากหลังหัวใจวาย คุณไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่มีอาการที่แสดงถึงปัญหาสุขภาพหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก ในขณะทำกิจกรรมทางกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง อย่างการเดินเร็ว การขึ้นบันได เป็นต้น ส่วนใหญ่ก็จะสามารถทำกิจกรรมทางเพศหรือมีเซ็กส์ได้อีกครั้ง หลังพักฟื้นแล้วประมาณ 1 สัปดาห์

    หากคุณเข้ารับการรักษาภาวะหัวใจวายด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) โดยปกติแล้ว ต้องรออย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ เพื่อให้แผลผ่าตัดหายสนิทก่อน จึงจะสามารถมีเซ็กส์ได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย

    หากคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองพร้อมจะมีเซ็กส์อีกครั้งหรือยัง ก็สามารถปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจคลื่นหัวใจได้ หากผลตรวจออกมาเป็นปกติ นั่นอาจหมายความว่า คุณสามารถกลับมามีเซ็กส์ได้แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหมตั้งแต่ครั้งแรก

    มีโอกาสหัวใจวายระหว่างมีเซ็กส์ได้ไหม

    ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายระหว่างมีเซ็กส์นั้นน้อยมาก จากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวายระหว่างมีเซ็กส์นั้นอยู่ระหว่าง 0.6%-1.7% เท่านั้น โดย 82%-93% ของผู้เสียชีวิตจากภาวะนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งกว่า 75% เสียชีวิตขณะมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสกับคู่นอนที่อายุน้อยกว่า ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจหรือทำให้เครียดได้ง่าย หรือมีเซ็กส์หลังกินอาหารมื้อใหญ่ หรือดื่มแอลกอฮอล์หนัก ฉะนั้น หากคุณไม่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ คุณก็สามารถมีเซ็กส์ได้อย่างปลอดภัย ความเสี่ยงในการภาวะหัวใจวายขณะมีเซ็กส์ก็จะลดลง

    คำแนะนำต่อไปนี้ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงให้คุณได้

    • คุยกับคนรักของคุณให้เข้าใจ ว่าแต่ละฝ่ายมีความต้องการอย่างไร และแค่ไหนถึงจะปลอดภัย
    • เลือกเวลาที่และสถานที่ที่เหมาะสม
    • หลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์หลังมื้ออาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการย่อยอาหาร อาการจุกแน่นหน้าอก เป็นต้น
    • พยายามผ่อนคลาย อย่าเครียด
    • หากคิดว่าไม่พร้อมหรือมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบถี่ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ให้นั่งพักสักครู่ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรหยุดกิจกรรมในครั้งนั้น กินยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน และพักผ่อน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

    สุขภาพทางเพศหลังหัวใจวาย

    การเปลี่ยนแปลงของสุขภาพทางเพศหลังหัวใจวาย ที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย ภาวะช่องคลอดแห้งในผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดจากยาที่ใช้ ความเครียด ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า อายุ ยิ่งหากคุณเคยมีปัญหาสุขภาพทางเพศตั้งแต่ก่อนหัวใจวาย ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งมากขึ้น

    หากพบว่าสุขภาพทางเพศของคุณเปลี่ยนแปลงไปหลังจากหัวใจวาย ทางที่ดีควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะได้หาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับคุณได้ ทางที่ดีคุณไม่ควรหายา อาหาร หรืออาหารเสริมมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาที่คุณกำลังใช้อยู่ได้

    ปกติแล้ว แพทย์ไม่แนะนำให้คุณกินยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศร่วมกับยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน เพราะอาจส่งผลให้ความดันโลหิตผิดปกติ จนคุณเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หัวใจวาย หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

    อีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายซ้ำ ทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศให้กับคุณได้ ก็คือ การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือวันละ 30 นาที อย่างไรก็ดี คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย แพทย์จะได้แนะนำวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับคุณได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 09/04/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา