backup og meta

รู้หรือไม่...พฤติกรรมทำลายหัวใจ มีอะไรบ้าง

รู้หรือไม่...พฤติกรรมทำลายหัวใจ มีอะไรบ้าง

แม้การทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง แต่รู้หรือไม่ว่าบาง พฤติกรรมทำลายหัวใจ ได้เช่นกัน แต่คุณอาจจะยังไม่ทราบว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่สามารถทำลายหัวใจได้เช่นกัน ดังนั้น ทาง Hello คุณหมอ จึงได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมทำลายหัวใจ มาฝากกัน

มาดูกันซิว่าคุณมี พฤติกรรมทำลายหัวใจ เหล่านี้อยู่หรือเปล่า

กิจกรรมหลายๆ  อย่างที่คุณทำ อาจจะไม่ได้คิดว่ามีผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของหัวใจ แต่มีพฤติกรรมหลายอย่างซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันที่คุณจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ทำลายหัวใจไปมากกว่านี้ พฤติกรรมทำลายหัวใจ มีดังนี้

นั่งทั้งวัน

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีไลฟ์สไตล์ชอบเคลื่อนไหว ผู้ที่เคลื่อนไหวไม่เพียงพอและนั่งนานถึง 5 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงเป็น 2 เท่าที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้น ถ้างานของคุณจะต้องนั่งโต๊ะทุกวัน ควรหาเวลาลุกขึ้นและเดินประมาณ 5 นาทีทุกชั่วโมง การบิดตัวเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้หลอดเลือดแดงของคุณมีการยืดหยุ่น และทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างถูกต้อง

อย่าคิดว่าตัวเองยังเด็กเกินไป

ความจริงแล้วไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็สามารถมีปัญหาโรคหัวใจเหมือนกันได้หมด ดังนั้น อย่ามัวแต่คิดว่าตัวเองยังเด็กเกินไป เริ่มออกกำลังกาย และกินอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งคอยตรวจเช็คความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือดอยู่สม่ำเสมอ จะเป็นการดีที่สุด

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

ควันจากบุหรี่ส่งผลที่ไม่ดีต่อหัวใจ หลอดเลือดแดง และปอด หากคุณสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้จะถือเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพมาก นอกจากนั้นควันบุหรี่มือ 2 ก็เป็นพิษต่อหัวใจเช่นกัน ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

จำกัดปริมาณไขมันเพื่อสุขภาพ

โดยส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้ว่าไขมันนั้นไม่ดีสำหรับตัวเรา ทุกคนเลยต่างพากันจำกัดไขมัน แต่การจำกัดไขมันอาจทำให้คุณพลาดการได้รับไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นผลที่ดีต่อหัวใจด้วย เนื่องจากไขมันที่ดีต่อสุขภาพ สามารถลดความเสี่บงของโรคหัวใจได้ ซึ่งไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันจากอะโวคาโด น้ำมันมะพร้าว ถั่ว เมล็ดเจีย ไข่ และปลาที่มีไขมัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารก็ควรระวังในการบริโภคสิ่งเหล่านี้ด้วย

ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าผู้ชายที่ดื่มมากกว่า 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงที่ดื่ม 1 แก้วต่อวัน แอลกอฮอล์อาจไปขัดขวางจังหวะการเต้นของหัวใจปกติ จนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ สิ่งที่ควรกระทำจึงเป็นการดื่มเป็นครั้งคราว เพื่อดูแลร่างกายควบคู่ไปกับความเพลิดเพลินในการลิ้มรสเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราวในบางโอกาส

ทานน้ำตาลมากเกินไป

น้ำตาลถือเป็นอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการอักเสบสูง ซึ่งก่อให้เกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อสุขภาพฟันที่ไม่ดี และโรคเบาหวาน ซึ่งโรคทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้

น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

การลดน้ำหนัก จุดมุ่งหมายก็เพื่อสุขภาพที่ดี หากคุณมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน การลดเพียง 5%-10% ของน้ำหนักตัว อาจจะทำให้ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคเบาหวาน ลดลงได้แบบเห็นได้ชัดเจน

เครียดมากเกินไป

ความเครียดนั้นจะกระตุ้นให้ร่างกายปลอดปล่อยอะดรีนาลีนออกมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายชั่วคราว ส่งผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปความเครียดที่มากเกินไป สามารถทำลายเส้นเลือดในหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายจากความเครียด ควรทำดังนี้

  • พยายามพูดคุย และแบ่งปันความรู้สึกของคุณด้วยการพูดคุยกับเพื่อนที่เชื่อถือได้ หรือสมาชิกในครอบครัว
  • ออกกำลังกาย วันละ 30 นาที เพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางจิตใจได้
  • วางแผนความสำคัญของงานในแต่ละวัน รวมถึงวางแผนล่วงหน้า เพื่อช่วยป้องกันการรีบทำทุกอย่างให้เสร็จภายในเวลาเดียว

ทานแคลเซียมเสริม

การทานแคลเซียมเสริมถือเป็นนิสัยที่ไม่ดีต่อหัวใจ ทั้งยังอาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย เพราะอาหารเสริมแคลเซียมอาจส่งผลทำให้ร่างกายสร้างลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือดของคุณ ทำให้อาจเกิดปัญหาลิ่มเลือดอุดตันได้

ปล่อยให้มีไขมันหน้าท้อง

ไขมันหน้าท้องไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ดังนั้น ลองวัดขนาดของรอบเอว แล้วสังเกตดูว่าคุณผู้ชายรอบเอวเกิน 40 นิ้วหรือไม่ และคุณผู้หญิงรอบเอวเกิน 35 นิ้วหรือไม่ หากรอบเอวเกิน ก็จำเป็นที่จะลดไขมันหน้าท้องลง เพราะการลดน้ำหนักเพียงเล็กน้อยก็เป็นผลดีต่อหัวใจของคุณ

ทานยาลดกรด

การใช้ยาลดกรดสามารถทำให้คุณมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจถึง 20% นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย เมื่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็สามารถส่งผลไปยังการทำงานในส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย

ไม่ใช้ไหมขัดฟัน

หลายคนคงสงสัยว่า การใช้ไหมขัดฟันเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคหัวใจ จากการศึกษาบางอย่างรวมถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน International Scholarly Research Notices เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 ระบุว่า แบคทีเรียเกี่ยวข้องกับโรคเหงือก ซึ่งส่งผลต่อการอักเสบในร่างกาย ซึ่งการอักเสบนี้เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้ไหมขัดไฟจึงถือเป็นการลดแบคทีเรียในช่องปาก และป้องกันไม่ให้เป็นโรคเหงือกอักเสบนั่นเอง

ทานโซเดียมมากเกินไป

การบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป อาจนำปสู่โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ดังนั้น การอ่านฉลากโภชนาการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์เดียวกัน จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เมื่อเปรียบเทียบแล้วควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีค่าโซเดียมต่ำที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่ควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน

นอนหลับไม่เพียงพอ

หัวใจของคุณผ่านการทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน เมื่อคุณไม่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ จะทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดไม่ได้รับการพักผ่อนตามที่ต้องการ นอกจากนั้นการอดนอนเรื้อรัง อาจนำไปสู่ระดับคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน ที่สูง เช่นเดียวกันกับระดับที่คุณต้องตกอยู่ในสถานการ์ที่ตึงเครียดเลยทีเดียว ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง ส่วนวัยรุ่นนั้นควรตั้งเป้าหมายไว้ที่ 9-10 ชั่วโมง

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

6 Common Habits That Are Damaging Your Heart. https://www.everydayhealth.com/heart-health/common-habits-damaging-heart/. Accessed February 27, 2020

Bad Heart Habits. https://www.webmd.com/heart/ss/slideshow-bad-heart-habits. Accessed February 27, 2020

Top five habits that harm the heart. https://www.health.harvard.edu/heart-health/top-five-habits-that-harm-the-heart. Accessed February 27, 2020

Heartbreaking Habits: 6 Habits Bad for Heart Health. https://thewellnessway.com/habits-bad-for-heart-health/. Accessed February 27, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2021

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพหัวใจ ที่อาจช่วยป้องกันคุณให้ห่างไกลจากโรค

เอาชนะ อาการตื่นตระหนก ก่อนที่จะกระทบต่อสุขภาพหัวใจ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา