backup og meta

โพแทสเซียมสูง ห้ามกิน อะไรบ้าง และควรกินอาหารอะไร

โพแทสเซียมสูง ห้ามกิน อะไรบ้าง และควรกินอาหารอะไร

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะขับโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะ แต่หากมีภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน อาจทำให้ไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ อาจมีคำถามว่า โพแทสเซียมสูง ห้ามกิน อะไร และควรกินอาหารอะไร เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้ถูกต้อง ซึ่งอาจช่วยให้สามารถรักษาสมดุลของระดับโพแทสเซียมในร่างกายให้เหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการมีระดับโพแทสเซียมสูงเกินไปได้

[embed-health-tool-bmi]

โพแทสเซียมสูง เกิดจากอะไร

ภาวะโพแทสเซียมสูง (Hyperkalemia) เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถกรองโพแทสเซียมจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไปและกำจัดโพแทสเซียมออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไตจะดูดโพแทสเซียมกลับเข้าไปสะสมในเลือด จนทำให้มีโพแทสเซียมสูงเกินไป ผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมสูงเป็นเวลานานอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจ ทำให้หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดภาวะหัวใจวายได้

ระดับโพแทสเซียมในเลือดปกติจะอยู่ที่ 3.5-5.0 มิลลิโมล/ลิตร หากเกิน 5.0 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่าโพแทสเซียมสูง และหากเกิน 5.5 มิลลิโมล/ลิตร ถือว่ามีระดับโพแทสเซียมสูงมาก

ปัจจัยต่อไปนี้ อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมสูงได้

  • การได้รับโพแทสเซียมจากอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจมาจากการกินอาหารเสริมโพแทสเซียมและสารทดแทนเกลือ (Salt Substitute)
  • การกินยารักษาโรคที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียม เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางชนิด

ภาวะโพแทสเซียมสูงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย แต่หากมีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะโพแทสเซียมสูงได้

  • โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease)
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคเบาหวานเรื้อรัง
  • ภาวะขาดน้ำ
  • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)
  • มีแผลไหม้ขนาดใหญ่บนร่างกายที่ทำให้โพแทสเซียมในเซลล์เคลื่อนตัวออกมานอกเซลล์หรือหลอดเลือด จนเกิดภาวะโพแทสเซียมสูง
  • อาการบาดเจ็บที่ทำให้สูญเสียเลือดมาก

โพแทสเซียมสูงส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัว เสริมสร้างการเติบโตของเซลล์ ช่วยกำจัดของเสีย ทั้งยังช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและรักษาสมดุลของระบบเผาผลาญ โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนําว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ควรบริโภคโพแทสเซียม 3,500 มิลลิกรัม/วัน

อย่างไรก็ตาม การมีโพแทสเซียมในเลือดมากเกินไปอาจกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมสูงมักไม่แสดงอาการอย่างเด่นชัดในระยะแรกและมักตรวจพบภาวะนี้ได้จากการตรวจเลือดและการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากปล่อยทิ้งไว้จนร่างกายมีโพแทสเซียมสะสมอยู่ในกระแสเลือดสูงมากหรือเรื้อรัง อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องและท้องเสีย
  • เจ็บหน้าอก
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือชาที่แขนขา
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หัวใจวาย

โพแทสเซียมสูง ห้ามกิน อะไรบ้าง

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจช่วยควบคุมระดับโพแทสเซียมไม่ให้สูงเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

  • ส้ม
  • มะละกอ
  • ทุเรียน
  • แก้วมังกร
  • ฝรั่ง
  • เนคทารีน (Nectarine)
  • ปวยเล้งปรุงสุก
  • มันฝรั่ง
  • แครอท
  • มะละกอดิบ
  • ฟักทอง
  • พริกหวาน
  • ผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน ลูกเกด
  • ผลไม้ตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงไทย ฮันนีดิว (Honeydew) แคนตาลูป
  • มะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ เช่น ซอสมะเขือเทศ
  • อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม แหนม
  • ธัญพืชเต็มเมล็ด
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วลิสง ถั่วพร้า ถั่วพู
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ต ชีส
  • นมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์
  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อแซลมอน
  • สารทดแทนเกลือที่มีโพแทสเซียม

โพแทสเซียมสูง ควรกินอะไร

อาหารที่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียม ควรเป็นอาหารที่มีโพแทสเซียมปานกลางและต่ำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ

  • แอปเปิลและผลิตภัณฑ์จากแอปเปิล เช่น น้ำแอปเปิล ซอสแอปเปิล
  • มังคุด
  • สละ
  • สับปะรด
  • เงาะ
  • ลูกท้อ
  • กะเพรา
  • ส้มเช้ง
  • ขึ้นฉ่าย
  • ต้นหอม
  • ชะอม
  • ตำลึง
  • เซเลอรี หรือขึ้นฉ่ายฝรั่ง
  • ใบบัวบก
  • ถั่วงอก
  • ถั่วพู
  • บวบเหลี่ยม
  • ใบโหระพา
  • ใบแมงลัก
  • ผักกวางตุ้ง
  • ผักกาดขาว
  • ผักกาดหอม
  • ยอดมะระ
  • สาหร่ายจีฉ่ายหรือสาหร่ายสายใบ
  • เห็ดหูหนูดำ

ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลาง

  • องุ่นและน้ำองุ่น
  • เชอร์รี่
  • กล้วย
  • ลูกพีช
  • ผลไม้แห้ง
  • ลองกอง
  • เสาวรส
  • ชมพู่
  • ทับทิม
  • กีวี
  • ลิ้นจี่
  • ละมุด
  • ลำไย
  • ส้มโอ
  • ขนุนและขนุนอ่อน
  • ข้าวโพดอ่อน
  • กะหล่ำปลี
  • แขนงกะหล่ำ
  • กุยช่าย
  • คะน้า
  • แตงกวา
  • น้ำเต้า
  • ผักโขม
  • ปวยเล้ง
  • ผักกาดขาว
  • ผักชี
  • ผักชีลาว
  • ผักชีฝรั่ง
  • ฟักเขียว
  • มะเขือยาว
  • ผักบุ้ง
  • มะละกอดิบ
  • พริกหวาน
  • พริกหยวก
  • เห็ดนางฟ้า
  • เห็ดนางรม
  • เห็ดหอมสด
  • หอมหัวใหญ่

อาหารอื่น ๆ ที่มีโพแทสเซียมต่ำ

  • ขนมปังขาว
  • ขนมเค้ก
  • คุกกี้ที่ไม่มีถั่วหรือช็อกโกแลต
  • ก๋วยเตี๋ยว
  • พาสต้า
  • ข้าว
  • ชา
  • กาแฟ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperkalemia (High Potassium). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15184-hyperkalemia-high-blood-potassium#. Accessed October 27, 2022

High-Potassium Foods. https://www.webmd.com/diet/high-potassium-foods#2. Accessed October 27, 2022

Six Steps to Controlling High Potassium. https://www.kidney.org/content/six-steps-control-high-potassium. Accessed October 27, 2022

Low-Potassium Diet: What to Know. https://www.webmd.com/food-recipes/low-potassium-diet-foods. Accessed October 27, 2022

Potassium. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/potassium/. Accessed October 27, 2022

สารอาหารที่แนะนําให้บริโภคประจําวันสําหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป. http://food.fda.moph.go.th/Rules/dataRules/4-4-2ThaiRDI.pdf. Accessed October 27, 2022

โภชนาการในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง.https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-403.Accessed October 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารโพแทสเซียม สารอาหารสำคัญที่ไม่ควรละเลย

Hypokalemia อาการ สาเหตุ และการป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา