โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เกิดจากปัญหาในช่วงแรกของการพัฒนาของโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมักจะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจ และอาจส่งผลต่อการหายใจ แต่ด้วยการรักษาที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน รวมถึงการดูแลที่เหมาะสม ทารกจำนวนมากที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถมีชีวิตรอดได้อย่างเป็นปกติจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดจากความบกพร่องของหัวใจแต่กำเนิด แม้ว่าในบางครั้งจะไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่สาเหตุที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็คือ
- พันธุกรรม การบกพร่องนี้อาจถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว
- การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ การใช้ยาบางประเภทระหว่างการตั้งครรภ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเช่น ยารักษาอาการชัก
- การเสพติด แอลกอฮอล์ หรือยาระหว่างตั้งครรภ์
- การติดเชื้อ หากแม่มีการติดเชื้อไวรัสระหว่าง 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการให้กำเนิดบุตรที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคเบาหวาน อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีกี่ประเภท
ถึงแม้ว่าโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีด้วยกันหลายประเภท แต่ก็สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ลิ้นหัวใจบกพร่อง ลิ้นหัวใจภายในหัวใจซึ่งควบคุมการไหลเวียนของเลือดอาจปิดลงหรือรั่วทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เป็นปกติ
- ผนังหัวใจบกพร่อง ผนังหัวใจโดยธรรมชาติที่กั้นระหว่างหัวใจด้านซ้ายและขวาและห้องล่างและบนมีการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังที่ๆ ไม่ควรอยู่ ความบกพร่องนี้ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นและทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
- เส้นเลือดบกพร่อง เส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงที่นำเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างไม่ถูกต้อง โดยขัดขวางหรือทำให้การไหลเวียนของเลือดช้าลง
นอกจากนี้ แพทย์ยังแบ่งโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก ซึ่งส่งผลให้ระดับออกซิเจนต่ำ และประเภทที่สอง ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ระดับออกซิเจนต่ำ ทารกที่ทรมานจากการหายใจไม่ออก หรือมีอาการตัวเขียว คือ ทารกที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื่องจาก หัวใจบีบตัวอย่างที่ควรเป็น โดยสามารถเรียกโรคหัวใจแบบนี้ว่า “แบบ Cyanotic’ ทารกที่ได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ แต่มีอาการความดันโลหิตสูง หรือมีสัญญาณอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าหัวใจทำงานหนัก จะเรียกโรคหัวใจแบบนี้ว่า “แบบ Acyanotic’
อาการและความเสี่ยงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดโดยมากมักพบได้จากการอัลตราซาวด์ระหว่างตั้งครรภ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อแพทย์ได้ยินเสียงฟู่ของหัวใจ แพทย์จะทำการตรวจมากขึ้น เช่น การตรวจเอ็กโคคาร์ดีโอแกรม การทำเอ็กซ์เรย์ช่องอก หรือการทำ MRI หากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลระหว่างการคลอดบุตร อาการเบื้องต้นของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้แก่
- ริมฝีปาก ผิว นิ้วมือ นิ้วเท้าเขียว
- การหายใจลำบาก
- ความยากลำบากในการป้อนอาหาร (เด็กขาดความสนใจในการดื่มนมแม่)
- น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ
- ระดับออกซิเจนต่ำ
- เจ็บหน้าอก
- การเจริญเติบโตช้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีโรคหัวใจแบบ Acyanotic ที่ทารกได้รับออกซิเจนพอ และอาการจะไม่แสดงออกจนกว่าหลายปีหลังจากนั้น ในกรณีนี้อาการได้แก่
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- วิงเวียนศีรษะ
- หายใจลำบาก
- เป็นลม หรือหมดสติชั่วครู่
- การบวมของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย
- ระดับออกซิเจนต่ำ
- เหนื่อยง่าย
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถรักษาได้อย่างไร
การรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดขึ้นอยู่กับประเภท และความรุนแรงของโรค ทารกบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้ด้วยตัวเอง บางรายอาจต้องรักษาด้วยยา และในบางรายอาจต้องพึ่งการผ่าตัดหัวใจ เหล่านี้อาจรวมไปถึง การสวนหัวใจและหลอดเลือด การทำ Open-heart Surgeries และในกรณีที่รุนแรงมาก ก็คือ การเปลี่ยนถ่ายหัวใจ
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับความบกพร่อง การวินิจฉัยและการรักษาอาจเกิดขึ้นทันที ภายหลังจากที่เกิดในช่วงวัยเด็ก แต่ความบกพร่องบางประเภทจะไม่แสดงอาการจนกว่าผู้ป่วยจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้น การรักษาจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะแสดงอาการ ในกรณีเหล่านี้ อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เพิ่งถูกค้นพบ ได้แก่
- หายใจลำบาก หายใจติดขัด
- เจ็บหน้าอก
- ความสามารถในการออกกำลังกายต่ำ (เหนื่อยง่าย)
เช่นเดียวกับการรักษาในเด็ก การรักษาในผู้ใหญ่อาจทำได้ตั้งแต่การรอสังเกตอาการ ไปจนถึงการใช้ยารักษา และการผ่าตัด การบกพร่องที่อาจถูกรักษาตั้งแต่ในวัยเด็ก อาจแสดงอาการอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ หรือการรักษานั้นไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป หรือความบกพร่องในขั้นต้นอาจรุนแรงขึ้นตามเวลา เนื้อเยื่อแผลเป็นที่พัฒนารอบ ๆ รอยแผลเดิมอาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางครั้งความบกพร่องที่ไม่รุนแรงในวัยเด็ก ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาจทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดทุกรายควรปรึกษาแพทย์โรคหัวใจ เพื่อติดตามอาการอยู่เสมอ การรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่ใช่การรักษาแบบหายขาด แต่จะเป็นการช่วยผู้ป่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตปกติได้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว นั้นสูงในกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์อยู่เสมอ
สามารถป้องกันได้อย่างไร
หญิงตั้งครรภ์สามารถป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการให้กำเนิดบุตรโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ดังนี้
- หากวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และยาที่ผิดกฎหมายระหว่างตั้งครรภ์
- หากเป็นโรคเบาหวาน มั่นใจว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ก่อนตั้งครรภ์
- หากไม่ได้รับวัคซีนต้านโรคหัดเยอรมัน พยายามหลีกเลี่ยงการติดโรค และปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกัน
[embed-health-tool-heart-rate]