ชีวิตในการทำงานของแต่ละคนอาจไม่ราบรื่นเสมอไป การทำงานส่วนใหญ่มักมีปัญหาให้เราต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้ง ปัญหาจากงานอาจกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดจากคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน เพราะเป็นคนที่เราต้องทำงานด้วยและเจอหน้ากันแทบทุกวัน ยิ่งหากใครเจอ เพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์ ด้วยแล้ว ชีวิตในการทำงานอาจยิ่งย่ำแย่ จนส่งผลกระทบกับสุขภาพและลามไปถึงคุณภาพในการทำงานด้วย ใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่ Hello คุณหมอ มีวิธีรับมือมาให้คุณแล้ว รับรองว่า… ชีวิตการทำงานของคุณจะง่ายขึ้นอีกเยอะ
เพื่อนร่วมงานเป็นแบบนี้ ไบโพลาร์ชัวร์!
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode) กับช่วงมาเนีย (Mania) หรือภาวะฟุ้งพล่าน หรือ คุ้มคลั่ง (Manic Episode)
โดยอาการในแต่ละช่วง อาจเป็นอยู่หลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน และอาจกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับไปมีอาการของโรคไบโพลาร์สลับกันไปมาอีกครั้ง อาการของโรคไบโพลาร์นั้นวินิจฉัยได้ยาก
แต่หากคุณสงสัยว่า เพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์หรือไม่ ก็สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากอาการและสัญญาณดังต่อไปนี้
สัญญาณของภาวะฟุ้งพล่าน
- รู้สึกมีความสุข หรือคึกคักเกินปกติ ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไม่อยากนอน หรือนอนน้อย
- พูดเร็ว คิดเร็ว
- หุนหันพลันแล่น หรือ ด่วนตัดสินใจ
- ไม่มีสมาธิ
- มั่นใจในตัวเองมากเกินไป
- มักแสดงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ช้อปปิ้งกระจาย เอาเงินเก็บมาใช้แบบไม่เหมาะสม
สัญญาณของภาวะซึมเศร้า
- รู้สึกเศร้าหรือสิ้นหวัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ปลีกตัวออกจากเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว คนใกล้ชิด
- เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยโปรดปราน
- ความอยากอาหารเปลี่ยนไป เช่น จากกินจุกลายเป็นไม่อยากอาหาร จากกินน้อยกลายเป็นกินจุ
- รู้สึกอ่อนเพลียรุนแรง หรือหมดพลัง
- มีปัญหาด้านความจำ การรวบรวมสมาธิ และการตัดสินใจ
- ชอบคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือสนใจเรื่องการตายมากเกินปกติ
คนเป็นโรคไบโพลาร์ เหมาะกับงานแบบไหน
เราคงไม่สามารถเจาะจงได้ว่าคนลักษณะไหนเหมาะสมกับงานอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็มีสิ่งที่คนเป็นไบโพลาร์ควรพิจารณา ก่อนตัดสินใจเลือกทำงาน เพื่อให้ได้งานที่เหมาะกับคุณมากขึ้น ดังนี้
สภาพแวดล้อมในการทำงาน
ลองตั้งข้อสังเกต และพิจารณาว่างานนี้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณไหม ทำแล้วมีโอกาสก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด เช่น งานท้าทายเกินไปหรือไม่ ทำให้เครียดเกินไปหรือเปล่า
สำหรับผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ สถานที่ทำงานที่เงียบสงบและผ่อนคลายจะช่วยให้คุณสามารถทำงานในแต่ละวันได้อย่างเป็นปกติ และช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำงาน และพัฒนาอารมณ์ของคุณได้ด้วย
ตารางหรือกำหนดการในการทำงาน
งานพาร์ทไทม์ที่สามารถปรับตารางการทำงาน หรือเวลาในการทำงานได้สะดวก อาจเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์มากกว่า แต่ควรเป็นงานที่ทำในช่วงกลางวันมากกว่างานแบบควบกะ งานกะกลางคืน หรืองานที่คุณอาจโดนเรียกตัวไปทำงานในตอนกลางคืน เพราะการนอนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่ควรละเลย การนอนหลับและตื่นนอนให้เป็นเวลา สามารถช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้
เพื่อนร่วมงาน
การมีเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจ และสามารถช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณควรหางานที่สนับสนุนนโยบาย “เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ (Work Life Balance)” คือ การสนับสนุนให้พนักงานมีเวลาทำงาน และเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำแต่งาน
ความสร้างสรรค์ในการทำงาน
ผู้ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ส่วนใหญ่ มักทำงานประเภทต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี คุณจึงควรหางานที่สามารถใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้เต็มที่ และต้องมีเวลาในการรังสรรค์ผลงานอย่างเพียงพอด้วย ไม่ใช่มีงานเร่งเป็นประจำ
หากหางานในองค์กรที่เหมาะสมไม่ได้จริงๆ คุณอาจเริ่มทำธุรกิจของตัวเองก็ได้ เพราะคุณจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ แถมยังมีความยืดหยุ่นในด้านต่าง ๆ มากกว่าการทำงานในองค์กรด้วย แต่ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจใด ๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลในด้านนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน และควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุด
ความเครียดจากงาน… สิ่งที่ต้องระวัง
ไม่ว่าจะทำงานในองค์กร หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว ก็อาจเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด หรือความยากลำบากในการทำงาน จนก่อให้เกิดความเครียดได้ และความเครียดจากงานที่เกิดขึ้น ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ได้ทั้งสิ้น
วิธีการรับมือกับความเครียดจากงาน
- พักเบรกบ่อยๆ และสม่ำเสมอ แม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกอยากพักก็ตาม
- ใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด เช่น สูดหายใจลึกๆ นั่งสมาธิ ฟังเพลงผ่อนคลาย ฟังเสียงธรรมชาติ
- ออกไปเดินเล่นช่วงพักกลางวันบ้าง
- หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หรือมีนัดกับคุณหมอ ควรลาหยุดไปพบคุณหมอตามนัด
- รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด ก็ช่วยลดเครียด และช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้
วิธีรับมือเมื่อ เพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์
เมื่อมีเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์ ย่อมทำให้การทำงานกลายเป็นเรื่องท้าทาย หรืออาจประสบปัญหาในการทำงานได้มากขึ้น เพราะบางครั้งอาการของโรคไบโพลาร์ก็ควบคุมไม่ได้ หรือทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างก็ไม่ได้ใส่ใจกับอาการของโรคมากนัก กว่าจะรู้ตัว ปัญหาในการทำงานก็อาจเกิดไปแล้ว แต่คุณก็สามารถเตรียมตัวรับมือได้ เพื่อให้ชีวิตการทำงานราบรื่นขึ้น
เมื่อมีเพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์ คุณสามารถรับมือได้ดังต่อไปนี้
ทำความเข้าใจกับอาการของโรค
อาการของโรคไบโพลาร์ คือ มีอาการฟุ้งพล่านและอาการซึมเศร้าสลับกันไปมาเป็นช่วงๆ หากอยู่ในช่วงฟุ้งพล่าน หรือช่วงคึก เพื่อนร่วมงานของคุณอาจวางแผนการทำงานที่เกินจริง หรือทำตามได้ยาก รวมถึงอาจตื่นตัวมากจนแทบไม่หลับไม่นอน และส่งผลกระทบกับตารางงานได้ ส่วนในช่วงซึมเศร้า เขาอาจรู้สึกหมดพลัง ทำงานให้สำเร็จไม่ได้แม้จะเป็นแค่งานง่าย ๆ ก็ตาม หรืออาจขาดงานบ่อย ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน และไม่ยอมทำตามคำแนะนำใด ๆ ของคุณเลย
เมื่อคุณเข้าใจอาการเบื้องต้นของโรคไบโพลาร์แล้ว คุณก็จะรู้สึกโมโหหรือไม่สบอารมณ์น้อยลง หากจู่ ๆ เพื่อนร่วมงานที่เคยมีมารยาทดี คุยง่าย กลายเป็นคนก้าวร้าว หรือฉุนเฉียวง่ายขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
กำหนดขอบเขต
การเข้าใจในอาการของโรคไบโพลาร์ ไม่ได้แปลว่า คุณต้องยอมตลอดเวลาที่เพื่อนร่วมงานแสดงอาการออกมา แต่คุณควรกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมไหนที่คุณรับได้หรือรับไม่ได้ เช่น คุณอาจแจ้งเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นไบโพลาร์ไว้เลยว่า หากจะโทรมาหาคุณตอนตีสอง ต้องเป็นเรื่องด่วนจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่โทรมาเพราะนึกไอเดียงานใหม่ ๆ ออก หรือคุยกับเขาให้เข้าใจเลยว่า หากเขาแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงหรือหยาบคาย เขาจะต้องเข้าไปสงบสติอารมณ์ในพื้นที่ส่วนตัว และกลับออกมาเมื่อควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้แล้ว
สิ่งสำคัญคือ คุณต้องอธิบายให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นไบโพลาร์เข้าใจว่า คุณรู้ว่า เขาควบคุมอารณ์ตัวเองได้ลำบากแค่ไหน แต่เขาก็ต้องเข้าใจด้วยว่าคุณทนได้ถึงขั้นไหน เพราะไม่อย่างนั้น คุณจะต้องมานั่งเครียด และเสียสุขภาพ รวมถึงอาจเสียงานด้วย
หลีกเลี่ยงปัญหา
หากทำงานด้วยกันมาระยะหนึ่งแล้ว คุณอาจเริ่มจับทางได้ว่า เมื่อไหร่ที่อาการโรคไบโพลาร์ของเพื่อนร่วมงานจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน และสามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นได้
การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อร่วมงานกับคนที่สงสัยว่า… เป็นโรคไบโพลาร์
- หากใกล้ถึงเวลาส่งงาน แต่เพื่อนร่วมงานยังเฉื่อยชา คุณอาจนั่งทำงานเป็นเพื่อนเขา และคอยเตือนเขาว่าต้องทำอะไรบ้าง
- หากเจ้านายเป็นโรคไบโพลาร์และไม่เข้าออฟฟิศบ่อย ๆ จนไม่สามารถให้คำปรึกษาหรืออนุมัติงานที่มีเวลากำหนดแน่นอนได้ คุณอาจขออนุญาตเป็นคนตัดสินใจเองในช่วงที่เขาไม่อยู่ และกำหนดให้ชัดเจนว่า หน้าที่ใดบ้างที่คุณสามารถตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องรอเจ้านายอนุมัติ
- การขจัดสิ่งรบกวนในที่ทำงาน เช่น ให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นไบโพลาร์ได้นั่งทำงานในจุดที่สงบ คนไม่พลุกพล่าน ก็ช่วยให้เขาสามารถโฟกัสกับการทำงาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- นอกจากนี้คุณควรให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานด้วย หากเขาทำงานสำเร็จก็ชื่นชมและแสดงความยินดีไปกับเขา วิธีนี้จะช่วยให้เขารู้สึกดี และเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะหากเขาเป็นคนที่อ่อนไหวกับสถานการณ์ตึงเครียด
ขอความช่วยเหลือ
หากการมีเพื่อนร่วมงานเป็นไบโพลาร์ทำให้คุณเครียด จนส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต สุขภาพกาย หรือประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ คุณและเพื่อนร่วมงานควรขอความช่วยเหลือจากหัวหน้างาน แจ้งให้หัวหน้างานทราบว่าคุณกังวลเรื่องใด และพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานที่เป็นไบโพลาร์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณอย่างไรบ้าง เพื่อให้หัวหน้างานช่วยหาวิธีแก้ปัญหา
แต่หากคนที่เป็นไบโพลาร์ คือ หัวหน้างานของคุณ และอาการของโรคส่งผลให้เขาไม่สามารถตัดสินใจเรื่องงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คุณอาจต้องแจ้งหัวหน้างานในระดับที่สูงขึ้น หรือแจ้งฝ่ายบุคคล เพื่อให้คนเหล่านั้นพูดคุยหรือชี้แนะให้หัวหน้างานของคุณเข้ารับการรักษาต่อไป
หากไม่อยากให้พนักงานเป็นโรคไบโพลาร์
หากเจ้านายหรือหัวหน้างาน ไม่อยากให้คนในองค์กรป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่สืบเนื่องมาจากการทำงานได้ ดังนี้
- สร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไบโพลาร์ เช่น ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน หมั่นตรวจสอบระดับความเครียดของพนักงาน จัดกิจกรรมคลายเครียดบ้าง
- ตั้งกฎและนโยบายที่เสริมสร้างสุขภาพของพนักงานให้ดีขึ้น เช่น Work Life Balance เพื่อให้พนักงานมีเวลาทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล
- จัดอบรมการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตให้พนักงานทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกใส่ใจ และเห็นปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ กล้าเปิดอกพูดคุย และให้คำแนะนำกันได้อย่างถูกต้อง
- จัดชั่วโมงทำงานให้ยืดหยุ่น และให้พนักงานสามารถทำงานทางไกลได้บ้าง โดยเฉพาะกับพนักงานที่เป็นโรคไบโพลาร์ เพื่อลดความเครียดที่อาจส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง และควรอนุญาตให้สามารถลาหยุดเพื่อพบแพทย์หรือพักรักษาตัวได้นานขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด