backup og meta

ปวดคอ หันคอไม่ได้ เพราะ ตกหมอน ต้องทำอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ปวดคอ หันคอไม่ได้ เพราะ ตกหมอน ต้องทำอย่างไร

    หลายคนที่ตื่นนอนตอนเช้ามา อาจจะพบว่าตัวเองมีอาการปวดคอ ไม่สามารถหันคอได้ หรือแทบจะขยับคอไม่ได้ เนื่องจากนอน ตกหมอน อาการอักเสบของกล้ามเนื้อที่คอนี้อาจจะสร้างความลำบาก และทำลายเช้าที่สดใสของใครหลายคน มาลองดูกันดีกว่าว่าเราจะสามารถรักษาอาการปวดคอจากการตกหมอนนี้ได้อย่างไร

    ตกหมอน เป็นอย่างไร

    อาการตกหมอน หมายถึงอาการอักเสบฉับพลันของกล้ามเนื้อที่บริเวณคอ เนื่องจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณคอนั้นจะมีความบอบบาง เมื่อเราออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อในบริเวณคอมากๆ เข้า จึงทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นได้ การตกหมอนนั้นจะมีอาการคือ รู้สึกปวดคอ เจ็บคอเวลาขยับ ไม่สามารถขยับศีรษะไปมาได้อย่างสะดวก หรือไม่สามารถหันหน้าไปทางอื่นได้

    ในขณะที่เรานอน โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน มีความชื้นสูง และอากาศไม่ถ่ายเท อาจจะทำให้เราไม่สามารถนอนให้หลับสนิทได้ ต้องมีการพลิกตัวไปมาอยู่ทั้งคืน บ้างนอนหงาย นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ ทำให้นอนไม่ตรงหมอนที่รองรับศีรษะและคอของเรา หรือที่เรียกว่าอาการตกหมอน การตกหมอนนี้จะทำให้สมดุลของกล้ามเนื้อของต้นคอทั้งสองด้านเกิดการเสียสมดุล ทำให้การเรียงตัวของกระดูกต้นคอไม่ได้อยู่ในลักษณะตรง และทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ จนเกิดเป็นอาการตกหมอน

    เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองว่าเรามีอาการตกหมอนหรือไม่ โดยทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ก้มหน้า เงยหน้า และหันคอไปทางซ้ายและขวา เพื่อสังเกตว่ามีอาการปวดขณะที่หันคอ หรือขยับศีรษะไปทางด้านไหนได้หรือไม่
  • ใช้มือจับที่บริเวณคอ จะรู้สึกว่าคอร้อนๆ เทียบกับบริเวณอื่นที่ไม่มีอาการปวด
  • ใช้มือกดไล่ไปตามบริเวณลำคอ เพื่อหาบริเวณที่มีอาการตกหมอน ตามปกติแล้วอาการนั้นมักจะอยู่ที่บริเวณส่วนกลางของต้นคอ
  • ปัจจัยที่ทำให้เราตกหมอน

    นอนไม่หลับ

    การนอนไม่หลับ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตกหมอน หากเราไม่สามารถนอนหลับได้ หรือนอนหลับไม่สนิท การนอนหลับไม่สนิทจะทำให้ร่างกายของเรา ไม่สามารถเข้าสู่ระยะนอนหลับสนิท ที่ร่างกายจะทำการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ และคลายกล้ามเนื้อที่ตึง คลายหลอดเลือด และทำให้สมองได้มีโอกาสจัดการกับระบบความคิดเสียใหม่ การนอนหลับไม่สนิทจะทำให้เกิดความตึงเครียดสะสม จนสุดท้ายก็เกิดการอักเสบขึ้นมาได้

    ลักษณะของหมอน

    ท่าทางการนอนแต่ละท่า และสรีระทางร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้ความต้องการในการเลือกใช้หมอนต่างกัน หากเราเลือกหมอนที่ไม่เหมาะสมกับท่านอนและรูปร่างของตัวเอง ก็อาจทำให้เกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อสะสมที่บริเวณคอ หรือทำให้เรานอนหลับไม่สนิทได้

    ศีรษะและคอเย็นเกินไป

    การเป่าลมโดยตรงเข้าสู่บริเวณต้นคอและศีรษะ แม้ว่าจะทำให้รู้สึกสบาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการปรับสมดุลของร่างกาย เพราะปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้นร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดสมดุล กล้ามเนื้อและหลอดเลือดจะหดตัวลง เนื่องจากอากาศที่เย็น ในขณะที่หลอดเลือดบริเวณอื่นจะขยายตัวเพื่อบรรเทาความร้อนของร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดอาการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นคออย่างฉับพลัน และทำให้คอแข็งเกร็ง

    นั่งสัปหงก

    ปฏิกิริยาตอบสนองแบบฉับพลันของการนั่งสัปหงกจะทำให้เกิดการกล้ามเนื้อกระตุก และหดตัวภายในทันที เพื่อกระตุกให้ศีรษะกลับมาตั้งตรง ทำให้มีโอกาสที่กล้ามเนื้อจะเกิดการเกร็งตัว และฉีดขาดได้ง่ายขึ้น

    แก้อาการปวดจากการตกหมอนได้ด้วยวิธีเหล่านี้

    • ประคบเย็น

    เมื่อเราเริ่มรู้สึกถึงอาการปวด ให้ทำการประคบเย็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ คุณอาจใช้ถุงใส่น้ำแข็งผสมน้ำในอัตรา 1:1 หรือใช้แผ่นประคบเย็นสำเร็จรูป ทำการประคบบริเวณคอเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที ประคบซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง

    • นวด

    ใช้มือคลำสำรวจบริเวณสะบักทั้งสองข้างและบริเวณต้นคอ หากพบว่ามีกล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นก้อนแข็งๆ ให้ใช้นิ้วมือกดนวดเพื่อผ่อนคลายการตึงเครียดของกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากการนั่งฟุบลงกับโต๊ะ ใช้มือข้างเดียวกับด้านที่ปวดคอ วางลงบนด้านท้ายของศีรษะ กางมือออก แล้วใช้นิ้วโป้งกดในบริเวณที่รู้สึกเจ็บที่สุด ค้างไว้ประมาณ 2 อึดใจ หรือ 30 วินาที แล้วผ่อนออก แล้วกดซ้ำอีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำๆ เป็นเวลา 3-5 นาที หรือจนกว่ากล้ามเนื้อในบริเวณนั้นจะคลายตัวออก

    ก้มศีรษะลง แล้วใช้มือด้านที่ตรงข้ามกับด้านที่มีอาการปวดคอ กดศีรษะลงไปจนรู้สึกว่าก้านคอตึงเล็กน้อย ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วผ่อนออก ทำซ้ำไม่เกิน 10 ครั้ง วันละ 3 รอบ

    • เลือกหมอนให้เหมาะสมกับท่านอน

    ลักษณะของหมอน หมอนที่เราใช้นอนหนุน ควรจะมีลักษณะที่ดี สามารถรองรับน้ำหนักของศีรษะ และรองรับสรีระของต้นคอและศีรษะได้อย่างพอดี หากเรานอนหงาย หมอนควรมีลักษณะต่ำ หรือมีส่วนที่หนุนบริเวณหลังต้นคอ เพื่อช่วยประคองศีรษะ และรองรับส่วนเข้าของกระดูกต้นคอ หากเราจะนอนตะแคง หมอนที่ใช้ควรมีลักษณะสูงเพียงพอสำหรับความกว้างของบ่า แน่น และไม่ยุบง่ายๆ ส่วนหมอนสำหรับการนอนคว่ำนั้น ควรใช้หมอนขนาดใหญ่ สอดมารองรับบริเวณใต้ทรวงอก เพื่อไม่ให้ศีรษะหงายไปทางด้านหลังมากเกินไป

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา