backup og meta

WHO เผยแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    WHO เผยแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19

    นับตั้งแต่ เชื้อไวรัสCOVID-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ทาง WHO ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ นอกจากจะออกมาประกาศข่าวคราว วิธีป้องกันตัว และอื่นๆ สำหรับรับมือจาก COVID-19 แล้ว ยังได้เผยแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19 ออกมาอีกด้วย ส่วนเนื้อหาของแผนยุทธศาสตร์นี้จะมีอะไรบ้าง ทาง Hello คุณหมอ ได้หยิบข้อมูลบางส่วนจากแผนยุทธศาสตร์มาฝากกันในบทความนี้

    แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19 

    ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับการแจ้งเตือนว่า พบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่ม อยู่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ได้การรับแจ้ง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ทางการยีนก็ได้ออกมายืนยันว่า พวกเขาได้ตรวจพบว่า สาเหตุของโรคปอดอักเสบที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั่นเอง ในเบื้องต้นได้เรียกไวรัสชนิดนี้ว่า 2019-nCoV

    หลังจากที่มีรายงายผู้ป่วยรายแรกๆ ทาง WHO และภาคีเครือข่ายก็ได้ประสานกับทางการจีน และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ รวมไปถึงวิธีการแพร่เชื้อ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ขอบเขตของอาการ และความรุนแรงของโรค และวิธีการที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการตรวจจับ ขัดขวาง และควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการติดต่อจากคนสู่คน

    จึงทำให้เกิดแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้การระบาดขึ้นมา เพื่อกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อที่จะได้ให้ประชาคมนานาชาติได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ในการช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในการเตรียมความพร้อมและตอบโต้การระบาดของไวรัส 2019-nCoV นั่นเอง

    ซึ่งแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อ

  • จำกัดการติดต่อจากคนสู่คน รวมถึงการติดเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดและบุคลากรด้านสาธารณสุข การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เพิ่มและขยายวงการระบาด และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดจากประเทศจีนออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
  • ค้นหา คัดแยก และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างทันท่วงที รวมถึงการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้ออย่างดีที่สุด
  • ค้นหาและลดการระบาดจากสัตว์ที่เป็นแหล่งของโรค
  • จัดหาคำตอบในสิ่งที่ยังไม่ทราบข้อมูลในขณะนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค ขอบเขตของการระบาด และการติดเชื้อ ทางเลือกในการรักษา และเร่งพัฒนาวิธีตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยาที่ใช้รักษา และวัคซีน
  • สื่อสารเรื่องความเสี่ยงสำคัญและข้อมูลเหตุการณ์ไปสู่ทุกชุมชน และออกมาตอบโต้แก้ต่างการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
  • ลดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยใช้ความร่วมมือกับหลายภาคส่วน
  • แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19 จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อสมมติฐานที่ได้จากกระบวนการวางแผนจำนวนหลายข้อด้วยกัน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมากมายเกี่ยวกับขอบเขตของการระบาดภายในประเทศจีน ความสามารถในการติดต่อของเชื้อไวรัสชนิดนี้ และขอบเขตของอาการที่รุนแรงของโรค ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอัปเดตสมมติฐานเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ

    การประสานงานในระดับประเทศ

    สำหรับการจัดการความเสี่ยงระดับประเทศนั้น ในแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมและตอบโต้ การระบาดของ COVID-19 ได้ระบุเอาไว้ว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำในการประสานงานและติดต่อสื่อสารในภาพรวมทั้งหมด ด้วยการดำเนินการต่อยอดจาก การประเมินความเสี่ยงในระดับโลก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงระดับประเทศ และเพื่อใช้ในการตัดสินใจเรื่องสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลของประเทศจะต้องให้ความช่วยเหลือหน่วยงานและองค์กรของทางภาพรัฐและเอกชน ด้วยการให้คำแนะนำ กำหนดสมมติฐาน และปรับปรุงในเรื่องของกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ตามความเหมาะสมในทุกระดับ เพื่อให้สามารถทำการรับมือและตอบโต้การระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

    สำหรับการดำเนินงานต่างๆ นั้นจะได้รับการสนับสนุนจากทาง WHO และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations 2005 หรือ IHR2005) โดยใช้การประสานงานแบบกลุ่มภารกิจ (Cluster-coordination approach) ในกรณีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้ควรดำเนินการต่อยอดจากแผนสำรองฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ ซึ่งรวมไปถึง แผนรับมือการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไข้หวัดใหญ่ด้วย

    ขั้นตอนสำคัญ ก็คือ การสั่งเปิดดำเนินงานของคณะกรรมการรับมือภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามามีบทาทนำในการประสานการดำเนินงานด้านต่างๆ เหล่านี้ และเพื่อจัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรับมือและตอบโต้การระบาดนั่นเอง

    การเฝ้าระวัง COVID-19

    ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations 2005 หรือ IHR2005) หน่วยสาธารณสุขของประเทศจะต้องแจ้งกับทาง WHO ในกรณีที่ตรวจพบผู้ป่วย นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ในการรายงานเมื่อตรวจพบผู้ป่วยแต่ละราย หรือรายงานยอดรวมของผู้ป่วยตามแนวทางการเฝ้าระวังโรคในระดับโลกด้วย สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จะต้องคอยให้การสนับสนุนที่จำเป็น เพื่อช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ สามารถดำเนินการตามข้อผูกพันเหล่านี้ สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ ควรรายงานข้อมูลแบบแยกออกมาเป็นส่วนๆ ได้แก่ อายุ เพศ สถานะของการตั้งครรภ์ ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ (ตามแต่กรณี)

    สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องยกระดับระบบเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การเฝ้าระวังระบบรายงานโรค (Indicator-based surveillance) การเฝ้าระวังเหตุการณ์จากชุมชน (Community event-based surveillance) และการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ (Sentinel surveillance) เช่น การติดเชื้อ ระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันรุนแรง และอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น และจัดให้มีการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมที่บริเวณช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ (Points of entry) ในสถานพยาบาล และในชุมชน ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องว่าจ้างภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วย และทำการเฝ้าระวังตามความเหมาะสม ด้วย

    การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ

    ในเรื่องของ มาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection Prevention and Control หรือ IPC) ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้มั่นใจว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการป้องกันการติดเชื้อ 2019-nCoV และไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่ขยายลุกลามออกไปในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งนี้ ควรมีโครงการ IPC ในระดับประเทศและระดับสถานพยาบาล โดยมีทีม IPC ที่ผ่านการอบรมและรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีผู้รับผิดชอบหลักในเรื่อง IPC นอกจากนั้นโรงการ IPC จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ และผู้บริหารระดับสูงของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

    ส่วนในประเทศต่าง ๆ ที่การดำเนินงานเรื่อง IPC ที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีขีดความสามารถจำกัด หน่วยงานภาคีเครือข่ายจำเป็นต้องให้การสนับสนุนจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าอย่างน้อยที่สุดจะต้องจัดให้มีระบบ IPC ที่เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำขึ้นมาโดยเร็วที่สุด ทั้งในระดับประเทศและระดับสถานพยาบาล จากนั้นจึงค่อย ๆ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดทุกข้อขององค์ประกอบหลักด้านต่าง ๆ ของ IPC จนครบถ้วนและสมบูรณ์ตามแผนจัดเรียงลำดับความสำคัญของประเทศ

    ทั้งนี้ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ควรให้การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศในการประเมินความเสี่ยงของศักยภาพของระบบ IPC ในทุกระดับของระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงการมีระบบคัดแยกผู้ป่วย และห้องแยกที่มีระบบระบายอากาศอย่างเหมาะสม และนำผลการประเมินดังกล่าวนี้ มาใช้กำหนดเส้นทางในการส่งต่อผู้ป่วย โดยให้สอดรับกับศักยภาพในการจัดการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการดำเนินการให้ระบบ IPC ได้มาตรฐานตามหลักการ IPC พื้นฐาน ณ จุดให้บริการจุดแรก โดยปกติจะเป็นบริการแบบปฐมภูมิ นอกจากนั้นแล้ว ศักยภาพในการคัดแยกผู้ป่วย การตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ การป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานที่กำหนด ศักยภาพในการแยกผู้ป่วย และขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วย ควรที่จะต้องเป็นไปตามแนวทาง IPC ของ WHO ว่าด้วย 2019-nCoV

    ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องใช้วัสดุและอุปกรณ์ เพื่อดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติที่ได้รับการแนะนำ เช่น แหล่งทรัพยากรสำหรับดูแลสุขอนามัยของมือ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และสิ่งปฏิกูล ทางหน่วยงานภาคีเครือข่าย ควรให้ความช่วยเหลือหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ ในเรื่องการจัดซื้อและจัดวัสดุอุปกรณ์ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป นอกจากนั้น หน่วยภาคีเครือข่ายจะต้องสนับสนุนความพยายามของประเทศในการค้นหาทีมงาน เพื่อยกระดับศักยภาพ IPC อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนหรือความสามารถ ซึ่งสามารถส่งลงพื้นที่ใน สถานที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ได้ สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องเฝ้าติดตามทำการวิเคราะห์ข้อมูลใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับ การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นผู้ป่วยและในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมทั้งส่งผลสะท้อนกลับไปยังกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อดังกล่าวขึ้นในโรงพยาบาล

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา