backup og meta

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก เช็กสิ! คุณมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก เช็กสิ! คุณมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า

สุขภาพช่องปากเป็นสิ่งที่เราควรให้ความใส่ใจเป็นอันดับต้น ๆ การดูแลสุขภาพช่องปากโดยทั่วไปก็ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่แปรงฟันวันละสองครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ และไปพบทันตแพทย์ปีละสองครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่คนเรามักจะมองข้ามในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน จนส่งผลให้ปากและฟันมีปัญหาก็คือ การแสดง พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก เหล่านี้โดยไม่รู้ตัว ว่าแต่พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากที่ว่าจะมีอะไรบ้าง บทความนี้ของ Hello คุณหมอ มีคำตอบให้คุณแล้ว

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก

ดื่มน้ำผลไม้สีสันสดสวย

ถึงแม้น้ำผลไม้ปั่นที่ใช้ส่วนผสมหลากสีสัน จะมีคุณค่าทางอาหารและส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก แต่ถ้านำมาพิจารณากับสุขภาพฟันแล้วล่ะก็อาจจะไม่ใช่ เพราะอาหารที่มีเม็ดสีแน่น ๆ แบบนี้ อาจจับตัวเป็นคราบฝังแน่นอยู่บนผิวฟันได้

ฉะนั้น เวลาที่คุณดื่มเครื่องดื่มหรืออาหารเหลวที่มีเม็ดสีแน่น ๆ แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือน้ำผลไม้สีสดสวย เราแนะนำให้คุณใช้หลอดดีกว่า ฟันของคุณจะได้สัมผัสกับเม็ดสีพวกนี้น้อยที่สุด พอบอกอย่างนี้ หลายคนอาจคิดว่า ถ้าอย่างนั้นการดื่มน้ำเปล่า ที่ฝานมะนาวหรือเลมอนใส่ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติและสีสันน่าจะปลอดภัยกว่า แต่จริง ๆ แล้ว การดื่มน้ำเปล่าสไตล์นี้ ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากเช่นกัน เพราะมะนาวจะสร้างกรดที่เป็นอันตราบต่อชั้นเคลือบฟัน ทำให้ฟันสึกกร่อนได้

ไม่ยอมแปรงฟันก่อนนอน

ถ้ามีคืนไหนที่คุณเหนื่อยเหลือทนจนไม่ยอมแปรงฟัน ไม่ใช้ไหมขัดฟัน หรือไม่ยอมใช้น้ำยาบ้วนปาก ในการดูแลสุขภาพฟันและเหงือกแล้วล่ะก็ นั่นอาจเป็นการสร้างนิสัยแย่ ๆ ขึ้นมาก็ได้ ผู้คนมักให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากในตอนเช้ามากกว่า เนื่องจากต้องการดูดีที่สุดเวลาจะออกไปไหน ส่วนตอนกลางคืนก็มักจะหลงลืม ไม่ได้ดูแลช่องปากอย่างถูกต้อง ซึ่งพฤติกรรมนี้ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพในช่องปาก เพราะจะทำให้เกิดกรดขึ้นในปาก แล้วทำให้เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ขึ้นมาได้

ถ้าคุณลืมแปรงฟันก่อนเข้านอนบ่อย ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ ฟันสึกกร่อน โรคเหงือก และมีคราบฝังแน่นได้ ฉะนั้น เราแนะนำให้คุณแปรงฟันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันแค่สองนาทีคงไม่ทำให้คุณเสียเวลามากนักหรอกจริงไหม

ไม่ทำความสะอาดหรือเปลี่ยนแปรงสีฟัน

โปรดจงจำเอาไว้ด้วยนะว่า แปรงสีฟันสะอาด ๆ สามารถช่วยรักษาฟันและเหงือกได้ ฉะนั้น หลังแปรงฟันเสร็จแล้วคุณควรล้างแปรงสีฟันให้สะอาด และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก ๆ สามเดือน หรือเมื่อเห็นขนแปรงเสียรูป ดูไม่สะอาด หรือเมื่อเวลาที่คุณเจ็บไข้ได้ป่วย

ถ้าคุณใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ก็อาจต้องทำความสะอาดด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเชื้อแบคทีเรียหลุดรอดเข้าไปทำร้ายสุขภาพในช่องปากได้ หรือไม่ก็ใช้วิธีแช่หัวแปรงไว้ในน้ำยาบ้วนปากเป็นเวลา 20 นาที

เลื่อนนัดหมอฟัน

เรารู้ดีว่าไม่มีใครอยากไปพบหมอฟันกันหรอก เพราะหมอฟันส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ดูน่ากลัว และโหดร้ายต่อปากและฟันมาก แต่คุณควรรู้ไว้นะว่า การไปพบหมอฟันอย่างสม่ำเสมอนั้น จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพในช่องปากได้เป็นอย่างดี

การไปพบหมอฟันเฉพาะเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้น บางครั้งก็อาจจะสายเกินไป โรคที่เกิดในช่องปากส่วนใหญ่ เช่น  ฟันผุ มะเร็ง โรคเหงือก มักจะเริ่มก่อตัวอย่างเงียบ ๆ จะแสดงอาการออกมาก็เมื่อถึงช่วงลุกลามบานปลายแล้วนั่นแหละ ฉะนั้น แนะนำให้ไปพบหมอฟันเพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและฟันจะดีกว่า มีปัญหาอะไรจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

แปรงฟันหลังดื่มกาแฟทันที

พวกเราต่างรู้กันดีว่าคราบชากาแฟที่ติดอยู่บนผิวฟันนั้นดูน่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน เราเลยมักจะคิดว่าการแปรงฟันหลังดื่มชากาแฟทันที จะช่วยป้องกันคราบน่าเกลียดเหล่านั้นได้ ซึ่งก็ได้แหละแต่จะเป็นการทำร้ายฟันไปพร้อม ๆ กันด้วย เนื่องจากเครื่องดื่มพวกนี้มีฤทธิ์เป็นกรด ฉะนั้นถ้าคุณรีบทำความสะอาดในทันที ก็จะพลอยทำให้ชั้นเคลือบฟันเสียหายตามไปด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รอประมาณ 30 นาทีแล้วจึงค่อยแปรงฟัน เพื่อให้ค่า pH เกิดความสมดุลตามธรรมชาติก่อน หรือถ้าคุณรู้สึกอยากรีบทำความสะอาดจริง ๆ ก็ควรใช้วิธีบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ก็ได้

ดื่มสปอร์ตดริงค์เป็นประจำ

สปอร์ตดริงค์อาจทำให้นักกีฬาหลายๆคนรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาในพริบตา แต่เมื่อพูดถึงสุขภาพฟันแล้วล่ะก็นี่อาจเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพในช่องปากของคุณได้ เนื่องจากเครื่องดื่มพวกนี้อาจมีน้ำตาลปริมาณสูง เผลอ ๆ อาจมีอันตรายมากกว่าน้ำอัดลมโดยทั่วไปด้วยซ้ำ ซึ่งน้ำตาลพวกนี้คือปัจจัยที่ทำให้ฟันผุได้ ฉะนั้นถ้าใครหลงใหลเครื่องดื่มนี้จริง ๆ ก็ควรอ่านฉลากข้างขวดให้ดีซะก่อน ว่ามีน้ำตาลในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเหงือกและฟันของคุณหรือเปล่า

ดื่มไวน์

รู้ตัวกันหรือเปล่าว่าไวน์นั้นอุดมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งทำให้คุณมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดฟันผุได้ หลาย ๆ คนก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าของหวานนั้นเป็นภัยต่อสุขภาพฟัน แต่ก็มักจะไม่ใส่ใจกับน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไวน์ คงไม่มีใครคาดคิดหรอกนะว่า ในไวน์หนึ่งแก้วนั้นมีน้ำตาลอยู่ถึง 1.4 กรัม ซึ่งจะเข้าไปเกาะติดอยู่บนผิวฟันเวลาที่คุณดื่มไวน์เข้าไป

ใช้แปรงสีฟันร่วมกันคนอื่น

ด้วยความที่โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยโรคติดต่อน่ากลัวมากมาย เราจึงเชื่อว่าคงไม่มีใครยอมแชร์แปรงสีฟันร่วมกันคนอื่นแน่ ๆ แม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม ถ้าใครยังไม่รู้ก็จงรับรู้เอาไว้ด้วยนะว่า ปากของเราทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูสู่สุขภาพ ฉะนั้นใครถ้าใครใช้แปรงสีฟันร่วมกันคนอื่น ก็เท่ากับเป็นการเปิดประตูให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าไปทำลายสุขภาพของคุณได้

นอกจากนี้ ในแปรงสีฟันที่เราใช้อยู่นั้น ก็ยังเป็นแหล่งรวมตัวของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราด้วย ซึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่างๆได้อย่างมากมาย ฉะนั้นอย่าใช้แปรงสีฟันร่วมกับใครเด็ดขาด

ออกแรงแปรงฟันมากเกินไป

การแปรงฟันแรงเกินไปเป็นความผิดพลาดที่พบได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะกับคนที่ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งผลเสียที่ตามมาก็ได้แก่ เหงื่อร่น เสียวฟัน เหงือกอักเสบ และชั้นเคลือบฟันสึกกร่อน ถ้าคุณสังเกตแปรงสีฟันแล้วพบว่า ขนแปรงหักงอไม่เป็นรูปไม่เป็นทรง แปลว่าคุณออกแรงแปรงฟันมากเกินไป

วิธีแก้ไขคือ อย่าใช้แรงในการแปรงฟัน คุณควรใส่ใจกับการแปรงฟันให้ทั่ว ๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน มากกว่าจะเน้นการใช้แรงในการแปรงฟัน จำเอาไว้ว่าการแปรงฟันทุกวันคือสุขอนามัยที่ดี แต่วิธีขจัดคราบฝังแน่นและหินปูนที่ดีที่สุดก็คือ ไปให้หมอฟันช่วยจัดการให้

แปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ

นี่ก็คล้าย ๆ กับการดื่มชากาแฟนั่นแหละ คุณไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังกินข้าวเสร็จ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อฟันได้ เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภคกันในทุกวันนี้มักมีค่า pH ต่ำ ทำให้สภาพแวดล้อมที่เป็นกรดในช่องปาก

ฉะนั้น เราใช้แปรงแข็ง ๆ หรือออกแรงในการแปรงฟันมากเกินไป ก็ทำฟันมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสึกกร่อนได้ ทางที่ดีจึงควรรอซัก 30 ถึง 60 นาที ให้ค่า pH ภายในช่องปากอยู่ในระดับปกติเสียก่อน จึงค่อยแปรงฟัน

ใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกฟันขาว

ด้วยความที่ใคร ๆ ก็อยากจะมีฟันขาว แล้วในสมัยนี้ก็สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ฟอกฟันขาวได้ตามร้านขายยาทั่วไป ในราคาที่ไม่แพงซะด้วย ผู้คนจึงมักซื้อมาใช้เองโดยไม่ระแวงในเรื่องอันตรายซักนิดเลย โปรดรู้เอาไว้ด้วยนะว่า ผลิตภัณฑ์ฟอกฟันขาวที่เห็น ๆ กันนั้นมักไม่ค่อยมีคุณภาพ และอาจสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างฟันด้วย ซึ่งถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือโครงสร้างฟันเปลี่ยนไปตลอดกาลได้ ฉะนั้นถ้าพูดถึงเรื่องการฟอกฟันขาวแล้ว ควรขอความช่วยเหลือจากหมอฟันจะเป็นการดีที่สุด

ไม่ใช้ไหมขัดฟัน

ไหมขัดฟัน อาจดูเหมือนไม่มีความจำเป็นในการดูแลสุขภาพในช่องปากเลย แต่จริง ๆ แล้วนี่คือวิธีขจัดเศษอาหารออกจากซอกฟันได้เวิร์คมากๆ แค่นั้นยังไม่พอ ไหมขัดฟันยังช่วยป้องกันการก่อตัวของคราบฟัน ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพฟันด้วย

การขจัดคราบฟันเป็นประจำทุกวันจะช่วยป้องกันโรคฟันผุและโรคเหงือกให้คุณได้ ซึ่งมีอยู่เหตุผลเดียวเท่านั้นแหละที่คุณไม่ควรใช้ไหมขัดฟัน นั่นก็คือเมื่อเหงือกมีเลือดออก ซึ่งอาการนั้นอาจเกิดการที่คุณไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันก็ได้ เพราะถ้าคุณดูแลความสะอาดให้กับเหงือกและฟันเป็นอย่างดี อาการพวกนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น

ไม่ทำความสะอาดในบริเวณที่มีเลือดออก

โดยทั่วไปแล้วการที่มีเลือดออกตามร่างกายนั้นนับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ยิ่งถ้ามีเลือดออกตามไรฟันด้วย ก็ยิ่งต้องให้ความดูแลเรื่องสุขอนามัยในช่องปากกันอย่างมาก หลายคนมักจะหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดในบริเวณที่มีเลือดออก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคุณยิ่งต้องใส่ใจในเรื่องความสะอาดให้มากขึ้น หลาย ๆ คนคงคิดว่าที่เลือดออกนั้นคงเกิดจากการแปรงฟันหรือการใช้ไหมขัดฟัน เวลาแปรงฟันจึงไม่แตะต้องในบริเวณนั้นเลย และยิ่งปล่อยไว้นานผลร้ายก็จะตามมามากขึ้น

เนื่องจากอาการเลือดออกนั้นบ่งบอกว่าเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าคุณไม่แน่ใจกับอาการที่เกิดขึ้น ก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้นาน ๆ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oral health mistakes you never knew you were making. http://www.thelist.com/95973/oral-health-mistakes-never-knew-making/. Accessed on June 7, 2018

Oral Care. https://www.webmd.com/oral-health/default.htm. Accessed on June 7, 2018

Everything You Need to Know About Dental and Oral Health. https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health. Accessed 1 October 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2021

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของอาการเสียวฟัน กินอะไรก็เสียวฟัน ทำยังไงดีล่ะทีนี้?

ไหมขัดฟัน ชนิดและวิธีการใช้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา