ลิ้นจี่ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่หลายคนนิยมรับประทาน รสชาติหวานอมเปรี้ยว กินแล้วรู้สึกสดชื่น จึงทำให้ผลไม้ชนิดนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทุกเพศทุกวัย นอกจากจะเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ พาทุกคนมาทำความรู้จักกับผลไม้ชนิดนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
ทำความรู้จัก ผลไม้ลิ้นจี่ (Lychee)
ลิ้นจี่ (Lychee) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Litchi chinensis) จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับลำไยและเงาะ มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีน ส่วนใหญ่ปลูกในภูมิภาคกึ่งเขตร้อน และนิยมปลูกมากที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเปลือกสีแดงขรุขระ เนื้อมีสีขาวขุ่น กลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยว อุดมด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมายทั้ง วิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปรับประทานได้หลากหลายรูปแบบทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น น้ำลิ้นจี่ เค้กลิ้นจี่ วุ้นลิ้นจี่ ลิ้นจี่ลอยแก้ว แกงเผ็ดลิ้นจี่ ยำลิ้นจี่ เป็นต้น
ข้อมูลโภชนาการ
ผลไม้ลิ้นจี่ปริมาณ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
- พลังงาน 66 แคลอรี่
- โปรตีน 0.8 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 16.5 กรัม
- น้ำตาล 15.2 กรัม
- ไฟเบอร์ 1.3 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
ลิ้นจี่กับคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพ
ลิ้นจี่ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่หลายคนต่างถูกอกถูกใจ เพราะนอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์อีกมากมาย ดังนี้
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ลิ้นจี่มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
- ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลิ้นจี่มีไฟเบอร์ในปริมาณมาก ช่วยระงับความอยากอาหาร และช่วยเพิ่มการเผาผลาญของร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปริมาณเส้นใยและวิตามินบีรวมที่ดีซึ่งช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต
- บรรเทาความเครียด
ลิ้นจี่อุดมด้วยวิตามินซี เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาความเครียด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidation Stress)
ลิ้นจี่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูงซึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย
- ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ลิ้นจี่มีสารโพแทสเซียม (Potassium) ช่วยบรรเทาความดันโลหิตสูง ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจวาย นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยรักษาความดันโลหิตอีกด้วย เช่น ธาตุแมงกานีส ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซียม เป็นต้น
คำแนะนำในการรับประทานลิ้นจี่
คุณควรรับประทานลิ้นจี่ในปริมาณที่เหมาะสม หากรับประทานลิ้นจี่ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น สมองเกิดการอักเสบ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]