หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอาการอักเสบของท่อหายใจที่เล็กที่สุดในปอดเรียกว่าหลอดลมฝอย
คำจำกัดความ
หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน คืออะไร
หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน (Bronchiolitis) คือการติดเชื้อในปอดชนิดหนึ่ง ที่พบได้มากในทารกและเด็กเล็ก โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และอาการอุดตันในทางเดินหายใจขนาดเล็กที่อยู่ในปอด เช่น หลอดลมฝอย โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยแค่ไหน
หลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันนั้นมักจะเกิดกับเด็กเล็กและทารก และพบได้มากในช่วงฤดูหนาว โรคนี้สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
ในช่วงแรก ๆ อาการของ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน อาจจะคล้ายคลึงกับโรคหวัด เช่น
หลังจากนั้น อาจจะเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก หายใจลำบาก หรือหายใจออกแล้วมีเสียงดังวี้ด ๆ นอกจากนี้ ทารกส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการติดเชื้อในหูชั้นกลางอีกด้วย
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
เมื่อไหร่ที่ลูกของคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการกิน การดื่ม และการหายใจ ก็ควรพาเด็กไปพบหมอเพื่อทำการตรวจ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์ หรือเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิด โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด
หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
- หายใจแล้วมีเสียงวี้ด ๆ
- หายใจหอบ หายใจตื้น หรือหายใจเร็วถี่ ๆ
- ไม่ยอมดื่มนมหรือดื่มน้ำ หรือมีอาการหายใจเร็วเกินไปจนไม่สามารถกินหรือดื่มได้
- ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงคล้ำ โดยเฉพาะในบริเวณนิ้วมือและริมฝีปาก
สาเหตุ
สาเหตุของหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในบริเวณหลอดลมฝอย ที่เป็นทางเดินหายใจขนาดเล็กที่สุดในปอด การติดเชื้อนี้จะทำให้หลอดลมฝอยมีอาการบวมและอักเสบ จนทำให้เกิดการสะสมของเสมหะ ทำให้หายใจลำบาก
โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อทั่วไป รวมไปถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่มักจะเกิดกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไวรัส RSV นี้จะแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว และสามารถติดซ้ำได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน มักจะเกิดกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเฉพาะเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือนจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและปอดของเด็กนั้นยังไม่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ก็อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น
- คลอดก่อนกำหนด
- มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- สูบบุหรี่
- ไม่ได้ดื่มนมแม่
- ติดต่อใกล้ชิดกับเด็กคนอื่น ๆ
- อยู่ในที่แออัด
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
แพทย์มักจะวินิจฉัย โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน ได้ด้วยการตรวจร่างกายด้วยการฟังในบริเวณปอด และดูอาการโดยรวมของเด็ก
หากเด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง หรืออาจจะมีปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- เอกซเรย์หน้าอก เพื่อหาสัญญาณของปอดอักเสบ
- ตรวจหาเชื้อไวรัส โดยการเก็บตัวอย่างเสมหะและน้ำมูกไปตรวจในห้องแล็บ
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาว เพราะหากมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยังตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณของออกซิเจนในเลือดว่าลดลงหรือไม่
การรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
โดยปกติแล้ว โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน มักจะอยู่เพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่มักจะหายจากโรคนี้ได้เอง เพียงแค่ดูแลรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยคอยดูแลรักษาตามอาการ และคอยระวังระดับของน้ำและออกซิเจนในร่างกาย นอกจากนี้ ก็อาจจะมีการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ
เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคนี้มักจะเกิดจากเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลในการรักษามากนัก แต่อาจจะใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือ โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง เพื่อช่วยในการรับมือกับโรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน มีดังนี้
- ลดการพบปะกับผู้ที่เป็นไข้หรือไข้หวัด หากมีทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการหวัดในช่วง 2 เดือนแรก
- ทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณต่าง ๆ ที่มักมีคนสัมผัส เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีสมาชิกซึ่งกำลังป่วย
- ปิดปากและจมูกขณะไอหรือจาม ด้วยกระดาษทิชชู่ ทิ้งกระดาษทิชชู่และล้างมือ หรือใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ทำความสะอาด
- ใช้แก้วน้ำของตนเอง ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวที่กำลังป่วย
- ล้างมือบ่อย ๆ และพกเจลล้างมือแอลกอฮอล์ติดตัวเมื่อออกจากบ้าน
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจพบไม่บ่อยนักในเด็กที่กินนมแม่
หากมีคำถามเกี่ยวกับโรค ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความเข้าใจในวิธีการรักษาที่ดีที่สุด