backup og meta

7 อาการปวดหลัง ที่มักเกิดกับ ผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 29/07/2020

    7 อาการปวดหลัง ที่มักเกิดกับ ผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย

    เมื่อพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับหลังแล้ว ผู้หญิงเป็นเพศที่มักต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเช่นนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงและผู้ชายมีโครงสร้างกระดูกเชิงกราน และฮอร์โมนที่ต่างกัน อีกทั้งผู้หญิงยังมีหน้าที่ในการให้กำเนิดบุตรด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ ได้รวบรวม อาการปวดหลัง 7 ประเภท ที่พบได้ใน ผู้หญิง มากกว่าผู้ชายมาฝากกันแล้วค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย

    อาการปวดหลัง 7 ประเภท ที่พบได้บ่อยใน ผู้หญิง

    1. อาการปวดกระดูกก้นกบ

    อาการปวดกระดูกก้นกบอาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นฉับพลันหลังจากมีแรงกระแทกในบริเวณดังกล่าว หรือในบางกรณี แค่การสัมผัสเบา ๆ ในบริเวณนั้นก็สามารถทำให้คุณเจ็บปวดได้แล้ว ฉะนั้น ในบางครั้ง แค่คุณนั่งท่าปกติก็อาจทำให้คุณปวดกระดูกก้นกบ จนทรมานมากได้

    อาการปวดกระดูกก้นกบมักรุนแรงขึ้นเมื่อมีอาการท้องผูก แต่ก็โชคดีที่อาการเจ็บปวดนี้มักทุเลาลงภายหลังการขับถ่ายแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดกระดูกก้นกบมักเกิดจากการคลอดบุตร หรือการล้มก้นกระแทก

    2. กระดูกสันหลังยุบ

    ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) อาจทำให้กระดูกสันหลังของคุณแตก และส่งผลให้กระดูกสันหลังยุบได้ กระดูกยุบตัวมักพบได้มากที่สุดในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบน ส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหานี้จะรู้สึกปวดรุนแรง แต่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อกระดูกสันหลังยุบอาจทำให้หลังค่อมหรือความสูงลดลงได้

    3. กระดูกสันหลังเคลื่อนจากการเสื่อมสภาพ

    กระดูกสันหลังเคลื่อนจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative spondylolisthesis) เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสันหลังชิ้นหนึ่งในบริเวณหลังส่วนล่าง เคลื่อนตัวไปข้างหน้าจนอยู่เหนือชิ้นส่วนที่อยู่ข้างใต้ ทำให้รากประสาทเกิดการระคายเคือง และเกิดอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างและขา อาการทั่วไปของกระดูกสันหลังเคลื่อน ได้แก่ อาการปวดขาหรืออ่อนเพลีย ที่เกิดขึ้นขณะเดินหรือยืนเป็นเวลานาน อาการปวดอาจรุนแรงมากพอที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณได้

    4. โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

    โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวด ตึง และเมื่อยล้า ในบริเวณหลังส่วนบนและส่วนล่าง คอ และสะโพก และมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย อาการปวดที่เกิดจากโรคไฟโบรมัยอัลเจียอาจเกิดขึ้นแบบเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำ และมักมีอาการข้ออักเสบ อาการซึมเศร้า และลำไส้แปรปรวนร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียประมาณร้อยละ 80-90 เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 40 และ 75 ปี

    5. กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

    กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (ซึ่งมีหน้าที่ค้ำยันข้อต่อสะโพก และทำให้เราหมุนต้นขาได้) เกิดอาการกระตุก และดันตัวออกมากระทบหรือกระตุ้นเส้นประสาทไซอาติก ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง หรือเกิดอาการชาที่ขาและเท้าได้ อาการอื่น ๆ ของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ได้แก่ อาการปวดตื้อที่สะโพก อาการปวดเมื่อขึ้นบันไดหรือเนินเขา และอาการปวดที่ร่างกายข้างหนึ่งในขณะนั่ง

    6. ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม

    ผู้ที่เป็นโรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม (Spinal osteoarthritis) จะมีอาการเสื่อมของกระดูกอ่อน ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยในบริเวณผิวข้อต่อที่เชื่อมกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกคุณสูญเสียหมอนรองกระดูกจากกระดูกอ่อน กระดูกจึงเสียดสีกัน ทำให้เกิดอาการปวดและอาการเมื่อยล้าได้ ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมมักมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาการในระยะเริ่มแรกมักเข้าใจผิดว่า เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ

    7. กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติ

    ตามชื่อของอาการนี้ก็คือ กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติ (Sacroiliac joint dysfunction) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนที่รองรับน้ำหนักระหว่างร่างกายส่วนบนและเชิงกราน อาการดังกล่าวทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณหลังส่วนล่างและขา ที่มีอาการคล้ายกับอาการปวดหลังร้าวไปขา (Sciatica) กระดูกเชิงกรานเคลื่อนตัวผิดปกติพบได้มากในผู้หญิงวัยรุ่นและวัยกลางคน

    แนวทางสำหรับ ผู้หญิง ในการรักษา อาการปวดหลัง

    นอกจากจะเสี่ยงปวดหลังได้มากกว่าแล้ว ผู้หญิงยังเสี่ยงมีอาการปวดรุนแรงกว่าด้วย ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ คุณต้องทำความเข้าใจเรื่องอาการปวดและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด อาการปวดส่วนใหญ่จากปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID หรือ Nonsteroidal anti-inflammatory drugs) ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาที่ดี

    นอกจากการบรรเทาอาการปวดแล้ว ยากลุ่มนี้ยังลดไข้และอาการบวมได้ด้วย ดังนั้น หากคุณกำลังรักษาอาการปวดหลัง คุณอาจต้องการลองใช้ยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ก่อน อย่างไรก็ดี ร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือการปรึกษาแพทย์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 29/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา