หลายคนอาจจะสงสัยว่า ความวิตกกังวลกับความโกรธ นั้นมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ ความจริงแล้ว ความวิตกกังวลกับความโกรธมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทั้ง 2 อารมณ์นั้นตอบสนองต่อการรับรู้ถึงภัยคุกคาม ซึ่งจะช่วยให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายนั่นเอง แต่เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ลองไปติดตามบทความนี้ของ Hello คุณหมอกัน
ความวิตกกังวลกับความโกรธ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
มนุษย์นั้นมีอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลาย ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มักจะเชื่อมโยงกัน ส่วนความวิตกกังวล (Anxiety) นั้นคือความกลัวที่คุณรู้สึกตอบสนองต่อภัยคุกคามที่สามารถรับรู้ได้ ความโกรธ (Anger) ก็ถือเป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคาม ซึ่งทั้ง 2 อารมณ์นี้จะควบคู่ไปกับความรู้สึกของการถูกรบกวนหรือความรำคาญ
ด้านนักวิจัยได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ความวิตกกังวลกับความโกรธ นั้นอาจมีส่วนสำคัญต่อความสามารถการรับรู้และตอบสนองต่ออันตราย โดยอารมณ์ทั้ง 2 อย่างนี้อาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย โดยการปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดของคุณ นอกจากนั้นมันยังสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อารมณ์ทั้ง 2 อย่างนี้สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือทำให้แย่ลงได้ตามความคิดของตัวคุณเอง ซึ่งปฏิกิริยาของความวิตกกังวลและความโกรธมีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้
เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์
ทุกคนสามารถโกรธและรู้สึกวิตกกังวลได้ ในความเป็นจริงแล้วมีหลายครั้งที่ความวิตกกังวลเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และความโกรธคือการตอบสนองที่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ ในช่วงเวลาของความเครียด ความตึงเครียดจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อความขัดแย้งในชีวิตส่วนตัวของคุณขยายตัวจากเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงทำให้ความกังวลและความโกรธดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ
อาการทางสรีรวิทยาที่เหมือนกัน
เมื่อคุณโกรธหรือวิตกกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนซึ่งรวมถึงคอร์ติซอล (Cortisol0 และ อะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อเตรียมให้คุณต่อสู้หรือหนี ในช่วงเวลาที่คุณวิตกกังวลหรือโกรธ คุณมักจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- แน่นหน้าอก
- กล้ามเนื้อตึง
- รู้สึกร้อนรุ่ม
- อาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง
- ปวดหัว ตึงเครียด
อาการเหล่านี้จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่ถ้าคุณมีปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับความโกรธหรือความวิตกกังวล ฮอร์โมนเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพได้
ลักษณะอาการทางจิตวิทยาที่เหมือนกัน
นักจิตวิทยาได้เปรียบเทียบทั้งความวิตกกังวลและความโกรธเอาไว้ว่า เมื่อคุณต้องเผชิญกับความเครียดที่คุณรู้สึกว่าไม่มีความพร้อมที่จะรับมือ คุณอาจจะรู้สึกวิตกกังวล หากคุณรู้สึกว่าถูกคุกคามมากขึ้น ความวิตกกังวลนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นความโกรธได้อย่างรวดเร็ว
ในทั้ง 2 กรณี เกิดจากการกระตุ้นภายนอกที่คุกคามความรู้สึกปลอดภัย และการควบคุมสภาพแวดล้อมของคุณ ความโกรธอาจเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความวิตกกังวลที่ต้องมีการใช้สารเคมีมากกว่า
นอกจากนี้นักจิตวิทยาบางคนยังแนะนำเอาไว้ว่า ความโกรธเป็นรากฐานของความวิตกกังวล โดยคนที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีการแสดงความโกรธออกมาอย่างถูกต้องอาจจะรู้สึกวิตกกังวลเป็นระยะเวลานาน
มีผลต่อสุขภาพ
หากคุณไม่สามารถจัดการกับความโกรธและความวิตกกังวลได้ หรือถ้ามีคนมาบอกกับคุณถึงวิธีการจัดการกับความโกรธและความวิตกกังวลที่กำลังทำให้คุณเกิดปัญหา นั่นถือว่าเป็นเวลาที่ดีที่คุณจะขอความช่วยเหลือ ความโกรธและความวิตกกังวลที่มากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและร่างกายของคุณ
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า ความโกรธเพิ่มสูงขึ้นในโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า นอกจากนั้นจากการศึกษาอื่น ๆ จากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ แสดงให้เห็นว่า ความวิตกกังวลและความโกรธที่มีมากเกินไป สามารถนำไปสู่
- ปัญหาซึ่งเป็นแหล่งที่มาของโรคปอด รวมถึงทำให้โรคหอบหืดแย่ลง
- ปวดหัว
- โรคหัวใจ
- ความเหนื่อยล้า
- ความดันโลหิตสูง
- นอนไม่หลับ
ความวิตกกังวลกับความโกรธเกิดจากสาเหตุอื่นได้หรือไม่
ความโกรธสิ่งที่สามารถทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ หากคุณรู้สึกโกรธหรือโกรธมากเกินไปจนยากที่จะจัดการ คุณอาจจะต้องลองสังเกตสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดความโกรธขึ้นได้ ดังนี้
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD)
- โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD)
- ภาวะซึมเศร้า (Depression)
- โรคไบโพลาร์หรืออารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- ภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (Intermittent Explosive Disorder หรือ IED)
- โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder หรือ NPD)
- ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
- ความเศร้าโศก (Grief)
ในทำนองเดียวกัน ความวิตกกังวลก็เกี่ยวข้องกับสภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งได้แก่
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD)
- ภาวะซึมเศร้า
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD)
- โรคกลัว (Phobia)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS)
- โรคทางจิตเวชที่เกิดจากการใช้สุราสารเสพติด (Substance use disorder)
วิธีจัดการ ความวิตกกังวลกับความโกรธ ที่เกิดขึ้น
หากคุณต้องจัดการกับความวิตกกังวลและความโกรธที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
การออกกำลังกาย
หากคุณกำลังมองหาวิธีการลดความวิตกกังวลกับความโกรธให้หายไปในทันที การออกกำลังกายถือเป็นวิธีที่สามารถช่วยได้ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้พบว่า คนที่วิ่งบนลู่เป็นเวลา 20 นาที มีอาการโกรธและวิตกกังวลน้อยกว่าก่อนออกกำลังกาย นอกจากนั้นการเลือกออกกำลังกายในสถานที่ที่เป็นธรรมชาติ ยังทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย
ฝึกสติ
การฝึกสติเป็นการฝึกสมาธิ โดยที่คุณไม่ต้องพยายามตัดสิน เปลี่ยนแปลง หรือตีความความคิดและความรู้สึกของตัวคุณเอง การฝึกสติสามารถช่วยลดความวิตกกังวลกับความโกรธได้ ในการศึกษาขนาดเล็กจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการฝึกสติ รวมถึง
- การสแกนร่างกายเพื่อสังเกตความรู้สึกทางกายภาพ
- ปล่อยให้ความคิดไหลเวียนอย่างอิสระ โดยไม่ต้องตัดสิน
- ทำแบบฝึกหัดการหายใจในช่องท้อง
หลังจากโปรแกรม 7 สัปดาห์สิ้นสุดลง ผู้เข้ารวมแสดงความโกรธและความวิตกกังวลน้อยลงกว่าตอนที่พวกเขาจะเข้าเริ่มการฝึกสติ
การฝึกหายใจ
การหายใจช้า ๆ มีผลอย่างมากต่ออาการทางสรีรวิทยาของความวิตกกังวลและความโกรธ มาตรการด้านสุขภาพที่ดีอย่างหนึ่งคือ ความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate variability หรือ HRV) ซึ่งเป็นความผันแปรของระยะเวลาการเต้นของหัวใจ ซึ่งเมื่อคุณรู้สึกถูกคุกคาม HRV ของคุณจะอยู่ในระดับต่ำ เวลาระหว่างจังหวะการเต้นจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่ง HRV ต่ำจะเชื่อมโยงกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และโรคหัวใจ
ส่วน HRV ที่สูงขึ้น หมายความว่า คุณสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของคุณได้อย่างง่ายดาย หัวใจของคุณจะเต้นเร็วขึ้นและช้าลงอย่างเหมาะสม ซึ่งจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้พบว่า การหายใจช้า ๆ (น้อยกว่า 6 ครั้งต่อนาที) สามารถเพิ่ม HRV ของคุณ และทำให้คุณรู้สึกกังวลน้อยลง โกรธน้อยลง และผ่อนคลายมากขึ้น
การนวด
หลายคนพบว่า การนวดบำบัดแบบสวีดิช (Swedish massage therapy) อย่างอ่อนโยนเป็นการนวดที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการลดความวิตกกังวลกับความโกรธ
ในการศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ซี่งเกี่ยวข้องกับผู้หญิง 100 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับการนวดบำบัดแบบสวีดิชเป็นเวลา 5 สัปดาห์ นักวิจัยรายงานว่า ผู้หญิงทุกคนมีความผิดปกติทางอารมณ์ทั้งหมดลดลง ซึ่งรวมถึงความโกรธและความวิตกกังวลในระหว่างและหลังที่เข้ารับการวิจัยด้วย
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy หรือ CBT) มีหลักการทำงานบนสมมติฐานว่า คุณอาจมีรูปแบบความคิดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ความโกรธและความวิตกกังวลแย่ลง
การทำงานร่วมกับนักบำบัดที่ได้รับการฝึกฝนในการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา อาจช่วยให้คุณระบุได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุของความวิตกกังวลหรือความโกรธ คุณยังสามารถเรียนรู้ที่จะสังเกตเห็นความคิดที่บิดเบือนมุมมองของความเป็นจริง เมื่อคุณระบุได้แล้ว คุณสามารถเรียนรู้ที่จะปรับความคิดของคุณใหม่ด้วยวิธีที่ช่วยให้คุณจัดการกับความโกรธและความกังวลได้
กระบวนการนี้ไม่ใช่การแก้ไขอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่จากการวิจัยจากแหล่งที่เชื่อถือได้แสดงให้เห็นว่าการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา มีประสิทธิภาพมากในการรักษาความวิตกกังวลเรื้อรังและปัญหาความโกรธ
ความวิกตกกังวลกับความโกรธนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน เนื่องจากทั้ง 2 อารมณ์นั้นตอบสนองตามปดติต่อการรับรู้ภัยคุกคาม จึงช่วยให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายได้ อารมณ์ทั้ง 2 รูปแบบนี้จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายพลุ่งพล่านคล้ายกัน และยังมีส่วนกระตุ้นทางจิตใจที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย