มักมีความเข้าใจผิดกันบ่อยว่า หากคุณมีค่าความดันโลหิตสูง แปลว่าคุณจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริงเสมอไป ความจริงก็คือ มีความแตกต่างระหว่าง “ความดันโลหิตสูง’ กับการเป็น “โรคความดันโลหิตสูง’ ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างไร แล้วใครบ้างที่มี ความเสี่ยง โรคความดันโลหิตสูง บทความนี้จะไขข้อสงสัยให้รู้กัน
ความแตกต่างระหว่าง “ความดันโลหิตสูง’ และ “โรคความดันโลหิตสูง’
ระดับความดันโลหิตนั้นไม่มีตัวเลขตายตัว และมีความผันผวนตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ กิจกรรม และแม้แต่อาหารที่เรารับประทานเข้าไป ความดันอาจขึ้นสูงเมื่อผ่านการออกกำลังกาย หรือจากการดื่มกาแฟเพียงแก้วเดียว หรือเมื่อผ่านเหตุการณ์ตึงเครียดก็เป็นได้ ในสถานการณ์เหล่านี้ ค่าของระดับความดันโลหิตของคุณจะแสดงตัวเลขที่สูงขึ้น ตามมา ซึ่งหมายความว่า คุณความดันโลหิตสูงในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) เป็นคนละเรื่องกัน โรคนี้เป็นอาการความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โดยความดันโลหิตของคุณจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะกินอะไรหรือทำอะไรก็ตาม คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงดี แต่ในความเป็นจริง ระดับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นนั้น กำลังทำร้ายร่างกายของคุณ หากทิ้งไว้ไม่รักษา ความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพขั้นรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ
รู้ได้อย่างไรว่ามี ความเสี่ยง โรคความดันโลหิตสูง
ค่าระดับความดันโลหิตที่แสดงนั้นจะแสดงออกมาเป็น 2 ค่า ค่าด้านบน หรือที่เรียกว่า “ซิสโตลิก’ (systolic) หมายถึง ค่าความดันเลือดจากแรงดันโลหิตในเส้นเลือดเมื่อหัวใจเต้น ส่วนค่าด้านล่าง หรือที่เรียกว่า “ไดแอสโตลิก’ (diastolic) หมายถึง ค่าที่วัดจากแรงดันโลหิตในเส้นเลือดระหว่างที่หัวใจผ่อนหรือคลายตัวระหว่างหัวใจเต้น
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2013 ระบุว่า แรงดันโลหิตซิสโตลิกนั้นควรเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าแรงดันโลหิตไดแอสโตลิกนั้นควรสูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ค่าความดันโลหิตสูงที่อ่านได้ในตัวเลขไม่สูงมาก เรียกว่าโรคความดันโลหิตสูงทุติยภูมิ (secondary hypertension) หรือ โรคความดันโลหิตชนิดทราบสาเหตุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการป่วยบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูงเมื่อตั้งครรภ์ โรคหัวใจบางชนิด และโรคไต หากอาการเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูงก็สามารถแก้ไขได้ และสามารถทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจำนวนร้อยละ 95 ต้องทรมานจากโรคความดันโลหิตสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งในกรณีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง
คำว่า “ปัจจัยเสี่ยง’ นั้นบ่งชี้ถึง ลักษณะเฉพาะ อาการ หรือภาวะที่ผู้ป่วยนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มโอกาสพัฒนาของโรค แต่อาจไม่ใช่สาเหตุสำคัญทั้งหมด หมายความว่า หากคุณยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากเท่าไหร่ คุณยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้มากขึ้นเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเสี่ยงบางประการถูกจัดอยู่ในประเภทที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งคุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เหล่านี้ สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ในขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ซึ่งคุณสามารถจัดการได้
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
โดยทั่วไป ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและพยาธิสภาพที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งได้แก่
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว หากพ่อแม่หรือญาติสนิทมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน
- อายุ เมื่ออายุเรามากขึ้น เส้นเลือดของเราก็จะสูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาด้วย อย่างไรก็ดี เด็กก็อาจมีภาวะความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน
- เพศ ในช่วงอายุก่อนถึง 64 เพศชายมีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากว่าเพศหญิง และในช่วงอายุ 65 หรือมากว่า เพศหญิงมีแนวโน้มเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้
คุณสามารถลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางประการ
- โรคอ้วนและน้ำหนักเกิน
น้ำหนักเกิน หมายถึงผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 25-29.9 kg/m2 ในขณะที่ผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นจำแนกได้ด้วยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ ≥ 30 kg/m2 ยิ่งคุณมีน้ำหนักมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องการ การไหลเวียนของเลือดที่มากขึ้นเพื่อลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่ออย่างทั่วถึง เมื่อเลือดปริมาณมากไหลเวียนผ่านเส้นเลือดเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดแรงดันขึ้นภายในเส้นเลือด ทำให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานหนักซึ่งอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมา
- มีกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
โดยทั่วไป เมื่อคุณขยับตัวน้อย ระดับอัตราการเต้นของหัวใจจะมีระดับสูงขึ้น ทำให้หัวใจบีบตัวหนักขึ้นในการเต้น แต่ละครั้ง แต่เมื่อออกกำลังกาย ร่างกายของคุณจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยให้เส้นเลือดคลายตัวและทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง การออกกำลังกายสามารถเพิ่มระดับการไหลเวียนเลือดผ่านเส้นเลือดทั่วร่างกาย นำไปสู่การปลดปล่อยฮอร์โมนและไซโตไตน์ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดคลายตัว ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง ดังนั้น การขาดการออกกำลังกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้
- ปัจจัยด้านอาหาร
อาหารที่มีโซเดียมสูงและมีโพแทสเซียมต่ำสามารถทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงได้ โซเดียม เป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ในเกลือแกง สามารถเพิ่มระดับความดันโลหิต โดยการทำให้เส้นเลือดของคุณแคบตีบลงและทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวมากขึ้น โดยสองปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
การได้รับโพแทสเซียมที่เพียงพอนั้นจะช่วยรักษาสมดุลของระดับโซเดียม และทำให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งยังทำให้ผนังเซลล์ของเส้นเลือดคลายตัวซึ่งจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง
- การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว แต่การสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องนั้นย่อมเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ สารเคมีในบุหรี่ยังเป็นตัวทำลายเส้นเลือดด้วยการทำให้เส้นเลือดตีบลงซึ่งจะนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงได้
ส่วนผู้รับควันบุหรี่มือสองและการใช้ผลิตภัณฑ์จากยาสูบชนิดอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน
- การดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสองแก้วต่อวันเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โดยแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นระบบประสาทให้หลั่งอะดรีนาลีน ทำให้หลอดเลือดหดตัวและกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มระดับการไหลเวียนเลือดและอัตรา การเต้นของหัวใจ
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในเพศชาย แต่ไม่ใช่ในเพศหญิง ในขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเกินกว่าสองแก้วต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในเพศหญิง
- ความเครียด
ระดับความเครียดสูงส่งผลต่อการเพิ่มระดับความดันโลหิตได้ชั่วคราว แม้ยังมีการถกเถียงกันว่า ความเครียดนั้นเกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ แต่พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดเรื้อรังนั้นย่อมส่งผลต่อระดับความดันโลหิตสูงอย่างไม่ต้องสงสัย ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ การไม่ออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
- การใช้ยาบางชนิด
ยาในกลุ่ม NSAID อย่าง ไอบูโพรเฟน อาจทำให้โรคความดันโลหิตสูงมีอาการแย่ลง หรือทำให้ระดับความดันโลหิตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ยาแก้ไอและยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนผสมของตัวยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว อาทิ ยาซูโดอีเฟดรีน และยาฟินิลเอฟรีน ยาเหล่านี้ก็อาจเป็นสาเหตุให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นโดยการทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวทั้งหมด ไม่เพียงแค่หลอดเลือดบริเวณจมูก นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้ที่ใช้อินซูลินอีกด้วย
- โรคแทรกซ้อน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และพบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษา ปัญหาสุขภาพโดยทั่วไปซึ่งรวมถึงผู้มีอาการก่อนเกิด โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานก็มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ก็จะมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]