แม้คุณจะเป็นคนที่สุขภาพดี ก็อาจจะเกิดอาการท้องเสียได้ปีละหลายครั้ง โดยบางครั้งอาจจะไม่ทราบสาเหตุก็เป็นได้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอาหารก็สามารถทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้เช่นกัน แต่ อาหารที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง นั้นมีอะไรบ้าง ทาง Hello คุณหมอ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน
อาหารที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง มีอะไรบ้าง
สำหรับอาหารที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงบางอย่างนั้น อาจจะเป็นอาหารที่คุณบริโภคอยู่เป็นประจำ เพียงแค่คุณอาจจะไม่ทราบว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณท้องเสีย นอกจากนั้นแล้วสำหรับผู้ที่มีระบบย่อยอาหารที่ละเอียดอ่อนมาก อาหารเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้ ซึ่งอาหารต่างๆ มีดังนี้
- นม
แลคโตส เป็นน้ำตาลที่พบได้ในธรรมชาติ ซึ่งในนมนั้นมีแลคโตส ซึ่งอาจทำให้เกิดอาหารท้องร่วงได้ในบางคน ซึ่งกลุ่มคนที่มีอาการทางร่างกายกับแลคโตสนั้น เรียกว่า การแพ้แลคโตส ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ที่อายุเกิน 2 ขวบขึ้นไป อาการที่เกิดจากการแพ้แลคโตสนั้น อาจรวมถึงมีแก๊สในกระเพาะ ท้องร่วง ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาจเกิดทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ การหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากการแพ้แลคโตสได้นั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว ตามร้านขายยายังมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยย่อยน้ำตาลในนมได้ แต่การแพ้แลคโตสนั้น ไม่เหมือนกับการแพ้นมอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่มีอาการแพ้นมนั้น ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแลคโตสก็ตาม เพราะนั่นไม่ใช่การแพ้น้ำตาลในนม แต่เป็นอาการแพ้โปรตีนในนม
- พริก
เนื่องจากในพริก มีสารที่เรียกว่า แคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ แต่จะไม่ได้ออกฤทธิ์ทันทีหลังจากที่ทานเข้าไป แต่จะใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าอาการท้องเสียจะปรากฏ นอกจากนั้นแล้วแคปไซซิน ยังถูกนำมาใช้ในขี้ผึ้ง ที่รักษาโรคข้ออักเสบอีกด้วย
- เครื่องปรุงรสเผ็ด
เครื่องปรุงรสเผ็ด อาจเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคท้องร่วงที่เกิดจากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครได้บริโภคเครื่องเทศ มันอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองได้ในขณะที่มันถูกย่อย ซึ่งมักจะเกิดอาการท้องอืดตามมาด้วย
- คาเฟอีน
คาเฟอีน สามารถเร่งกระบวนการต่างๆ ให้ระบบในร่างกาย ซึ่งรวมถึงการย่อยอาหารด้วย ซึ่งในบางคนนั้นจะไวต่อคาเฟอีนมาก
กว่าคนอื่นๆ เมื่อได้รับคาเฟอีนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการท้องร่วงและท้องเสียตามมาได้ นอกจากนั้นแหล่งที่สามารถพบคาเฟอีนได้อีก ก็คือ โซดา ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง หรือแม้แต่น้ำดื่มบรรจุขวดบางชนิด นอกจากนั้น กาแฟยังอาจทำให้ลำไส้ของบางคนเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลมาจากสารอื่นๆ ที่มีอยู่ในกาแฟ นั่นเอง
- น้ำตาลและสารทดแทนน้ำตาล
อาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้ท้องเสียได้ เมื่อคนที่ทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเข้าไป จะทำให้น้ำตาลเข้าสู่ลำไส้ส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงตามมา นอกจากนั้น ฟรุกโตส(Fructose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตาลทรายแดง และพบได้ตามธรรมชาติในผลไม้ หากมีการบริโภคเข้าไปเป็นจำนวนมากกว่าที่ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียงได้เช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ทานฟรุกโตสมากกว่า 40-80 กรัมต่อวัน จะมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วงตามมา
นอกจากนั้น น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานนั้น ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ในบางคน หากมีการบริโภคในปริมาณที่มากจนเกินไป
- กลูเตน
กลูเตน (Gluten) เป็นโปรตีนที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไร (Rye) เบียร์ หรือแม้แต่น้ำสลัด ผู้ที่มีความไวต่อกลูเตน เมื่อทานเข้าไปแล้วอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยจนทำให้เกิดอาการท้องเสียและท้องร่วงตามมา สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) การทานกลูเตนเข้าไปจะเป็นการการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการโจมตีเยื่อบุลำไส้เล็ก ซึ่งอาจทำให้ลำไส้เล็กเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้
- อาหารทอดหรือไขมัน
อาหารทอดหรือไขมันนั้นเป็นอาหารที่ย่อยยาก เนื่องจากไขมันไม่ได้ถูกดูดซึมตามปกติ พวกมันจะถูกส่งไปย่อยที่ลำไส้ใหญ่ เมื่อลำไส้ใหญ่ทำการย่อยมันจะกลายเป็นกรดไขมัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ลำไส้ใหญ่หลั่งของเหลวออกมาแล้วทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องร่วงนั่นเอง
- กระเทียมและหัวหอม
ทั้งกระเทียมและหัวหอมมีเส้นใยที่ไม่ละลายในน้ำได้สูงมาก ซึ่งส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารแตกตัวและปล่อยแก๊สที่ทำให้ลำไส้ระคายเคืองออกมา นอกจากนั้นแล้วมันยังมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ย่อยยากอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกระเทียมและหัวหอมถึงเป็นอีกหนึ่งอาหารที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง
- บล็อคโคลี่และกะหล่ำดอก
บล็อคโคลี่และกะหล่ำดอก มีสารอาหารในปริมาณสูง รวมทั้งมีเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย แม้คุณจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ระบบย่อยอาหารของร่างกายไม่ตอบสนองต่อเส้นใยในปริมาณที่มากเกินไป นั่นจึงทำให้เกิดอาการท้องเสียและท้องร่วงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเลี่ยงที่จะบริโภคบล็อคโคลี่และกะหล่ำดอก แต่ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะกับที่ร่างกายต้องการจะเป็นการดีที่สุด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]