backup og meta

ชาสำหรับคนเป็นเบาหวาน กินแล้วดีอย่างไร แล้วชาชนิดไหนถึงจะเหมาะ

ชาสำหรับคนเป็นเบาหวาน กินแล้วดีอย่างไร แล้วชาชนิดไหนถึงจะเหมาะ

ชาถูกจัดเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพที่สุด เพราะมีประโยชน์สุขภาพมากมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละโรคก็อาจเหมาะกับชาต่างชนิดกันไป แล้วหากคุณเป็นโรคยอดฮิตอย่างโรคเบาหวาน หรืออยากลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ล่ะ คุณควรดื่มชาชนิดไหนบ้าง บทความนี้ Hello คุณหมอ จะพาคุณไปหาคำตอบว่า ชาสำหรับคนเป็นเบาหวาน มีอะไรบ้าง ดื่มชาแล้วดียังไง และต้องดื่มชาแบบไหนถึงจะปลอดภัยที่สุด

ชาดีต่อคนเป็นเบาหวานอย่างไร

ผลการศึกษาวิจัยมากมายชี้ว่า ชาที่ได้จากใบของต้นชา (Camellia sinensis) เช่น ชาดำ ชาเขียว ชาอู่หลง รวมถึงชาสมุนไพร เช่น ชาเปปเปอร์มินต์ ชาคาโมมายล์ มีโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอันทรงพลัง ช่วยป้องกันการอักเสบและสารก่อมะเร็ง ซึ่งดีต่อสุขภาพ ดังนี้

ประโยชน์สุขภาพที่ได้จากการดื่มชา ล้วนดีต่อคนเป็นเบาหวานทั้งสิ้น โดยงานศึกษาชิ้นหนึ่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปีค.ศ. 2009 ชี้ว่า การดื่มชาหรือกาแฟดำวันละ 3 แก้ว ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ถึง 40% เลยทีเดียว

ชาที่เหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวาน

ชาสำหรับคนเป็นเบาหวาน ที่คุณไม่ควรพลาด เช่น

ชาดำ

ชาดำมีสารประกอบตามธรรมชาติที่ชื่อว่า ทีฟลาวิน (Theaflavin) และทีรูบิจิน (Thearubigins) ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมโครงการบางส่วนเป็นคนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน และอีกส่วนมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) พบว่า กลุ่มที่ดื่มชาดำ แม้จะดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานด้วย ก็ยังมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินยาหลอก

นอกจากงานวิจัยในมนุษย์แล้ว ยังมีการทดลองในหนูหลายชิ้นที่เผยว่า ชาดำอาจช่วยปกป้องเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่หลั่งอินซูลิน จึงถือเป็นการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ

ชาเขียว

เครื่องดื่มยอดนิยมอย่างชาเขียว ก็จัดเป็นชาสำหรับคนเป็นเบาหวานเช่นกัน เพราะผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การดื่มชาเขียวอาจช่วยลดความเสียหายที่เซลล์ ช่วยลดการอักเสบ และช่วยให้คุณควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ชาเขียวมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ชื่อว่า เอพิกัลโลคาเทชิน กัลเลต (Epigallocatechin gallate หรือ ECGC) ที่ช่วยกระตุ้นการดูดซึมอินซูลินของกล้ามเนื้อลาย จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

งานศึกษาวิจัยกว่าสิบชิ้น ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานกว่าพันคน พบว่า การดื่มชาเขียววันละ 3-4 แก้ว ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตรวจเจาะน้ำตาลหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar หรือ FBS) และตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C หรือ HbA1C)

ชาดอกชบา

ชาดอกชบา (Hibiscus tea) ทำจากกลีบดอกชบาสีแดงอบแห้งหรือตากแห้ง นอกจากจะมีสีแดงสดใสแล้ว ยังดีต่อคนที่เป็นเบาหวานมากด้วย เพราะในกลีบดอกชบาอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอด เช่น กรดอินทรีย์ (Organic acids) แอนโทไซยานิน (Anthocyanin)

ประโยชน์ที่ได้รับการยอมรับของชาดอกชบาก็คือ การช่วยลดระดับความดันโลหิต ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยเบาหวาน โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานดื่มชาดอกชบาวันละ 2 ครั้ง (ปริมาณชา 240 มิลลิลิตร) ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ค่าความดันโลหิตสูงที่สุดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว (Systolic Blood Pressure หรือ SBP) ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งงานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่า ชาดอกชบาอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ได้ด้วย

ชาคาโมมายล์ (Chamomile tea)

งานศึกษาวิจัยในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำนวน 64 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มชาคาโมมายล์ (ทำจากดอกคาโมมายล์ 3 กรัม) หลังอาหารทุกวัน วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ มีระดับอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มชาคาโมมายล์ยังมีระดับของสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า กลูตาไธโอนเปอร์ออกซิเดส (Glutathione Peroxidase)

ข้อควรระวังในการกิน ชาสำหรับคนเป็นเบาหวาน

แม้จะมีการพิสูจน์แล้วว่าชาแต่ละชนิดที่เราแนะนำดีต่อคนเป็นโรคเบาหวาน แต่คุณก็ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและใช้ยาบางชนิดอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจดื่มชาเหล่านี้ เพราะชาอาจไปรบกวนการทำงานของยาได้ เช่น ชาดอกชบาไม่ควรกินพร้อมยาความดันโลหิต อย่างยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)

และทางที่ดีคุณควรกินชาแบบไม่เติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานใด ๆ เพราะน้ำตาลที่เติมเข้าไปนั้นจะไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแย่ลงกว่าเดิมได้

หากคุณอยากลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน หรืออยากควบคุมอาการของเบาหวานให้ดีขึ้น นอกจากการกินชาแล้ว ก็ควรดูแลสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tea and Diabetes. https://www.diabetes.co.uk/food/tea-and-diabetes.html. Accessed June 19, 2020

Tea and Diabetes: Benefits, Risks, and Types to Try. https://www.healthline.com/nutrition/tea-for-diabetics. Accessed June 19, 2020

Why Drinking Tea May Help Prevent and Manage Type 2 Diabetes. https://www.everydayhealth.com/type-2-diabetes/diet/drinking-tea-diabetes-prevention/. Accessed June 19, 2020

Tea, coffee and diabetes. https://www.nhs.uk/news/diabetes/tea-coffee-and-diabetes/. Accessed June 19, 2020

Black Tea Consumption Improves Postprandial Glycemic Control in Normal and Pre-Diabetic Subjects: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Crossover Study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28049262/. Accessed June 19, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/03/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวาน ป้องกันได้ ด้วย สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด

ค่าดัชนีน้ำตาล ตัวแปรสำคัญในการช่วยควบคุมเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา