เมื่อพูดถึงผลไม้เมืองร้อนอย่างมะละกอ หากเป็นมะละกอดิบ คนส่วนใหญ่น่าจะนึกไปถึงเมนูส้มตำสุดแซ่บ ไม่ว่าจะเป็นส้มตำไทย ส้มตำปลาร้า ตำซั่ว และอื่น ๆ อีกหลากหลาย หรือหากเป็นมะละกอสุก ก็คงจะนึกถึงมะละกอสุกหั่นชิ้น รสชาติหวานฉ่ำ ยิ่งแช่เย็นก่อนกินก็ยิ่งชื่นใจ แต่สำหรับใครที่เบื่อการกินมะละกอสุกแบบธรรมดา และอยากรังสรรค์เมนูจากมะละกอสุกใหม่ ๆ ให้น่ากินยิ่งกว่าเดิม เราขอแนะนำ สูตรน้ำมะละกอปั่น สูตรเด็ด บอกเลยว่าเมนูนี้อร่อย ได้ประโยชน์ แถมช่วยคลายร้อนได้ดีสุด ๆ
สูตรน้ำมะละกอปั่น
ส่วนผสม น้ำมะละกอปั่น
- เนื้อมะกะกอสุกหั่นชิ้น 1 ถ้วย
- น้ำเย็น ½ ถ้วย
- น้ำแข็ง ½ ถ้วย
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น 1 หยิบมือ
- มะนาวฝานบาง ๆ สำหรับตกแต่ง
- ใบสะระแหน่ สำหรับตกแต่ง
วิธีทำ น้ำมะละกอปั่น
- ใส่น้ำแข็ง เนื้อมะละกอ น้ำเย็น น้ำมะนาว น้ำผึ้ง เกลือป่นลงในโถปั่น ปั่นจนเนื้อเนียนละเอียดเข้ากัน
- เทเครื่องดื่มใส่แก้วที่เตรียมไว้ ตกแต่งด้วยมะนาวฝาน กับใบสะระแหน่
เพียงแค่นี้ คุณก็ได้เมนูผลไม้ปั่นอย่าง น้ำมะละกอปั่น ไว้ดับกระหายคลายร้อน แนะนำว่า ปั่นเสร็จแล้วควรดื่มทันที ร่างกายจึงจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุดี ๆ มีประโยชน์อย่างครบถ้วน
มะละกอสุกนั้นจัดเป็นผลไม้ที่น้ำตาลสูงอยู่แล้ว หากใครอยากลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับ ก็ควรลดปริมาณน้ำผึ้งลง หรืองดใส่น้ำผึ้งไปเลย และอย่าใส่น้ำผึ้งเกินปริมาณที่แนะนำ เพื่อไม่ได้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลเกินที่แนะนำต่อวัน
ประโยชน์สุขภาพของผลไม้หน้าร้อนอย่าง มะละกอ
มะละกอสุก นอกจากจะเนื้อนุ่ม หวานฉ่ำ กินอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์สุขภาพอีกนานัปการ เช่น
- อุดมไปด้วยซีแซนทีน
ซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการบำรุงสายตา ช่วยกรองรังสียูวีจากแสงแดด ปกป้องเซลล์จอตาไม่ให้ถูกทำลาย และช่วยป้องกันโรคตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย
- มีวิตามินเค
วิตามินเค (Vitamin K) เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพกระดูกและฟันแข็งแรง เพราะเมื่อร่างกายได้รับวิตามินเคอย่างพอเพียง ก็จะช่วยให้ดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมไปกับปัสสาวะด้วย หากร่างกายได้รับวิตามินเคไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกแตกหักได้มากขึ้น
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
แม้มะละกอจะได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่น้ำตาลค่อนข้างสูง แต่หากกินแต่พอดี ก็มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากมะละกออุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และการหลั่งอินซูลิน (insulin) ให้เป็นปกติ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบการเผาผลาญให้ดีขึ้นด้วย
- มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารพฤกษเคมีในกลุ่มแคโรทีนอยด์อย่างไลโคปีน (Lycopene) ในมะละกอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยการช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระในร่างกายที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งคุณสมบัติเด่นข้อนี้อาจช่วยป้องกันมะเร็งทั้งในผู้ที่สุขภาพดีและผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้งยังอาจส่งผลดีต่อผู้ที่กำลังรักษามะเร็งด้วย
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จากการเปรียบเทียบผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนมูลอิสระ มีเพียงสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในมะละกอเท่านั้น ที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ แต่นักวิจัยก็ระบุว่า ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
- อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ
ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า มะละกอมีไลโคปีนและวิตามินซีสูง จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ นอกจากไลโคปีนและวิตามินซีแล้ว มะละกอยังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจช่วยปกป้องสุขภาพหัวใจ และช่วยเพิ่มระดับไขมันดี หรือเอชดีแอล-คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol)
นอกจากนี งานวิจัยชิ้นหนึ่งยังพบว่า ผู้ที่กินอาหารเสริมมะละกอหมักติดต่อกันเป็นเวลา 14 สัปดาห์ มีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายน้อยลด และมีระดับไขมันดี (เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล) และไขมันเลว (แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล หรือ LDL cholesterol) ดีขึ้นมากกว่าผู้ที่กินยาหลอก (Placebo effect) ซึ่งระดับไขมันที่ดีขึ้นนี้เชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจที่ลดลง
- ช่วยเรื่องการย่อยอาหาร
ปาเปน (Papain) เป็นเอนไซม์ที่พบมากในมะละกอ ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยโปรตีนได้ง่ายขึ้น ประชาชนในเขตร้อน รวมถึงประเทศไทย จึงนิยมกินมะละกอทั้งสุกและดิบเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก และโรคลำไส้แปรปรวน
อีกทั้งงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งยังพบว่า คนที่กินอาหารที่มีมะละกอเป็นวัตถุดิบหลักติดต่อกัน 40 วัน มีอาการท้องผูกและอาการท้องอืดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว มะละกอยังช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยปกป้องผิวไม่ให้ถูกแสงแดดทำลาย ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย ช่วยบำรุงผม ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ และอีกมายมาย เราจึงไม่อยากให้คุณพลาดเมนูจากมะละกอ โดยเฉพาะสูตรน้ำมะละกอปั่นที่เรานำมาฝาก ไม่ว่าในฤดูร้อนหรือฤดูไหน ๆ
ความเสี่ยงที่ต้องระวัง
ผู้ที่มีอาการแพ้ยาง (Latex Allergy) อาจต้องระมัดระวัง หรืองดกินมะละกอ เนื่องจากในมะละกอมีเอนไซม์ที่เรียกว่า ไคติเนส (Chitinase) ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ามกัน (Cross-reaction) ระหว่างยางและอาหารที่มีไคติเนส จนทำให้อาการแพ้กำเริบได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]